บอนด์ยีลด์ร่วงหลุด 3.7% นักลงทุนแห่ซื้อพันธบัตร กังวลเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 5, 2024 19:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดิ่งลงต่ำกว่าระดับ 3.7% ขณะที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี

ณ เวลา 19.23 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 3.692% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.026%

ราคาพันธบัตรและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน

ทั้งนี้ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรดังกล่าว ได้ซ้ำเติมตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ หลังการเปิดเผยภาคการผลิตที่อ่อนแอ และจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่สูงกว่าคาด

นักลงทุนเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมที่เหลือในปีนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่อ่อนแอเมื่อวันศุกร์ โดยจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวน 2 ครั้ง และ 0.25% จำนวน 1 ครั้ง รวมเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1.25% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดแตะระดับ 4.00-4.25% ในช่วงสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5.25-5.50%

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนก.ย.

นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 80.3% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนพ.ย.

ขณะเดียวกัน นักลงทุนให้น้ำหนัก 57.4% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนธ.ค.

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 177,000 ตำแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ 179,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย.

ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.1%

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนมิ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 179,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 206,000 ตำแหน่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ