นายสเตฟาน แอนกริค นักเศรษฐศาสตร์จากมูดี้ส์ อนาลิติกส์ ระบุในรายงานว่า นักลงทุนญี่ปุ่นได้ทำการเทขายพันธบัตรต่างชาติออกมาบางส่วน เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ แต่ก็ไม่มากพอที่จะเป็นสาเหตุทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
"ข้อมูลรายสัปดาห์จากกระทรวงการคลังญี่ปุ่นระบุว่า นักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่นได้เทขายสุทธิพันธบัตรต่างชาติระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-12 เม.ย. โดยมียอดขายพันธบัตรสุทธิรวม 3.1 ล้านล้านเยน หรือราว 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่วงเงินดังกล่าวไม่มากพอที่จะอธิบายสาเหตุการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ" รายงานระบุ
ที่ผ่านมา พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้รับการยอมรับในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จึงถือเป็นแหล่งหลบภัยของนักลงทุนในยามที่ตลาดเผชิญความไม่แน่นอน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเม.ย. ถือเป็นสิ่งที่ผิดปกติ และท้าทายความเชื่อดังกล่าว โดยปรากฎว่ามีแรงเทขายจำนวนมากในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 4.592% ในวันที่ 11 เม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. ขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 30 ปีดีดตัวแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2566 ในวันที่ 9 เม.ย.
ข้อมูลจาก LSEG ระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นถึง 0.50% ภายในเวลาเพียง 5 วันถึงวันที่ 11 เม.ย.