อย่างไรก็ตาม การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะภายในและรอบนอกกรุงเทพฯ ในขณะนี้ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งไม่ได้สร้างความเสี่ยงรุนแรงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือการเงินของประเทศ
ฟิทช์ระบุว่า ความผันผวนทางการเมืองนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำมาพิจารณาในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งความผันผวนทางการเมืองอาจจะนำไปสู่การให้อันดับความน่าเชื่อถือในเชิงลบ อันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งฟิทช์ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น
ปัจจัยพื้นฐานด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยนั้น สามารถต้านทานความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศและเหตุการณ์วุ่นวายในต่างประเทศได้ค่อนข้างดี ซึ่งรวมถึงเหตุมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวโดยเฉลี่ย 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในระหว่างปี 2551 - 2555 ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเท่ากันที่ BBB
ส่วนปัจจัยพื้นฐานทางการเงินก็ยังคงมีความยืดหยุ่น โดยความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลายครั้งก่อนหน้านี้ไม่ได้ส่งผลให้กระแสเงินทุนของนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ ไหลออกนอกประเทศมากเท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่า ภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองได้ส่งผลให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปอย่างล่าช้า และจะฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยด้วย