ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิตคือ สถานะความเป็นผู้นำ โดย BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียว ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะเดียวกัน BAFS อยู่ในธุรกิจที่มีสภาพการแข่งขันต่ำและคู่แข่งรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจนี้ได้ยาก
ปัจจัยต่อมาคือความต้องการใช้บริการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2557 - 2558 ด้วยแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและภูมิภาค
อีกปัจจัยหนึ่งคือ ความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาน้ำมันที่จำกัด โดย BAFS ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจาก BAFS จะเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการเติมน้ำมันจากบริษัทน้ำมันเท่านั้น (โดยบริษัทน้ำมันเป็นผู้ขายน้ำมันให้แก่สายการบิน) นอกจากนี้ ต้นทุนหลักของ BAFS เป็นค่าสัมปทานซึ่งเป็นอัตราที่ตกลงกันก่อนตามสัญญา ทำให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของ BAFS ค่อนข้างคงที่
ปัจจัยสุดท้ายคือ อัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ โดยฟิทช์คาดว่า BAFS น่าจะยังคงสามารถรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (Funds Flow from Operations ? Adjusted Net Leverage) ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.0 เท่าได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายการลงทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยานในส่วนต่อขยายของท่าอากาศยานสุวรรรภูมิก็ตาม
สำหรับปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตนั้น ประกอบด้วยปัจจัยบวกคือการเพิ่มขึ้นของขนาดธุรกิจและระดับการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจของ BAFS (ซึ่งไม่น่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างมากภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า) และปัจจัยลบคือการลงทุนจำนวนมากกว่าที่คาดโดยใช้เงินกู้เป็นแหล่งเงินทุน และการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง