โดยธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) หรือ UOBT, ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ICBCT และบริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด หรือ ICBCTL ได้รับการยืนยันอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)'
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET ได้รับการยืนยันอันดับเครดิตที่ 'AA(tha)' ขณะที่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ได้รับการยืนยันอันดับเครดิตที่ 'AA-(tha)' โดยทุกธนาคารแนวโน้ม "มีเสถียรภาพ" ยกเว้น MBKET ที่มีแนวโน้มเป็นลบ
ฟิทช์ ยังประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ของ UOBT และ CIMBT ที่ ‘A-’ และ ‘BBB’ ตามลำดับ
ทั้งนี้ อันดับเครดิตภายในประเทศของ UOBT, ICBCT, MBKET, และ CIMBT รวมทั้งอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตสนับสนุนของ UOBT และ CIMBT สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารและสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่งจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) จากธนาคารแม่ของธนาคารและสถาบันการเงินแต่ละแห่ง คือ United Overseas Bank Limited หรือ UOB (‘AA-’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) Industrial and Commercial Bank of China หรือ ICBC (‘A’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) Malayan Banking Berhad หรือ Maybank (‘A-’/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบและ CIMB Bank Berhad หรือ CIMB ฟิทช์มองว่าธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศไทยทั้ง 4 แห่ง เป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่ เนื่องจากมีการเชื่อมโยงการดำเนินงานอย่างสอดคล้องกันกับกลุ่ม (integration) ในระดับสูง การสนับสนุนทางการเงินที่ผ่านมาในอดีต และการถือหุ้นเกือบทั้งหมดจากธนาคารแม่
สำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศของ ICBCTL สะท้อนถึงบทบาทของ ICBCTL ในการเป็นบริษัทลูกหลัก (core subsidiary) ของ ICBCT โดย ICBCTL มีบทบาทสำคัญต่อกลยุทธ์ของธนาคารในด้านธุรกิจสินเชื่อรายย่อย อีกทั้ง ICBCTL ยังมีสัดส่วนรายได้และขนาดสินทรัพย์ที่ใหญ่เมื่อเทียบกับธนาคารแม่ โดยสินเชื่อของ ICBCTL มีสัดส่วนเป็น 38% ของสินเชื่อรวมของ ICBCT ณ สิ้นปี 2556
แนวโน้มอันดับเครดิตของ UOBT, ICBCT, ICBCTL, และ MBKET สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารแม่แต่ละแห่ง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ CIMBT สะท้อนถึงความคาดหมายของฟิทช์ที่เชื่อว่าความสามารถและโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติแก่ CIMBT ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของ UOBT ที่ระดับ ‘bb+’ สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่จำกัด แม้จะมีการปรับตัวดีขึ้นบ้างแล้ว รวมทั้งโครงสร้างเงินกู้ยืม (funding) และความสามารถในการทำกำไรที่ยังไม่แข็งแกร่งนักเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่นที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่สูงกว่า อันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงการที่ UOBT มีรากฐานการบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก UOB และการมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ CIMBT ที่ ‘bb-’ สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่จำกัด รวมทั้งคุณภาพสินทรัพย์และฐานะเงินกองทุนที่อ่อนแอกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญได้มีการปรับตัวดีขี้นบ้าง ฟิทช์คาดว่าความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของ CIMBT น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่นที่มีอันดับเครดิตใกล้เคียงกัน
อันดับเครดิตตราสารหนี้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (Upper Tier 2) ของ CIMBT ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ CIMBT อยู่ 2 อันดับ เนื่องจากตราสารดังกล่าวเป็นตราสารด้อยสิทธิและมีคุณสมบัติให้ธนาคารสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยได้ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน (lower Tier 2) อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของธนาคาร 1 อันดับ ซึ่งสะท้อนการที่หุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะด้อยสิทธิในโครงสร้างเงินทุน (capital structure) และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว