รายงานเรื่อง "Thailand: Political Polarization Adds to Structural Competitiveness Issues" ฉบับใหม่ล่าสุดของมูดีส์ระบุว่า มูดีส์มองว่า การรัฐประหารในเดือนพ.ค. ปี 2557 ว่า มีแนวโน้มที่จะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนตกต่ำลงในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้างนั้น ขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ดูเหมือนว่า จะลดลงแล้ว หากไม่เช่นนั้น ศักยภาพทางการแข่งขันและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจถูกบั่นทอนหนักขึ้นในอนาคต
รายงานของมูดีส์ระบุว่า เศรษฐกิจที่มีความหลากหลายและมีศักยภาพในการแข่งขันของไทยคือจุดแข็งของความน่าเชื่อถือสำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ Baa1
ทั้งนี้ มูดีส์ประเมินว่า ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย มีปัจจัยสนับสนุนคือศักยภาพการแข่งขันของภาคการผลิตของประเทศ ฐานการผลิตที่มีความเชี่ยวชาญช่วยให้ไทยสามารถสกัดกั้นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงฉับพลันของการเมือง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากภายนอก และเศรษฐกิจภายในประเทศ
รายงานของมูดีส์ระบุว่า สถานการณ์ในช่วงที่เกิดความผันผวนทางการเมืองแสดงให้เห็นว่า อันดับความน่าเชื่อถือของไทยส่วนใหญ่ยังสามารถรับมือกับความแปรปรวนทางการเมืองนับตั้งแต่เหตุรัฐประหารปี 2549 นอกจากนี้ เสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้นน่าจะก่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนในประเทศและจากต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำให้การลงทุนภาคสาธารณะมีความสมบูรณ์ในลำดับถัดมา
มูดีส์ตั้งข้อสังเกตว่า อย่างไรก็ตาม มีความเป็นได้อย่างมากว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะบ่งชี้ถึงความล่าช้าหรือการผลักดันปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพียงบางส่วนเท่านั้น นอกจากนี้ หากสถานการณ์ดังกล่าวมีนัยไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าแนวโน้มเป็นเวลาหลายปีแล้ว ท้ายที่สุดจะส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย