เนื่องจากชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับและธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 รายแรกในตลาดอสังหาริมทรัพย์ น่าจะช่วยให้บริษัทเหล่านี้รักษาความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าผู้ประกอบการที่เกิดจากการควบรวมกิจการไว้ได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กลงมาที่ไม่มีจุดขายที่แข็งแกร่งเพียงพอ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากบริษัทที่เกิดจากการควบรวม ซึ่งมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัทแม่
การควบรวมและการเข้าซื้อกิจการในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยส่วนใหญ่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดจากการที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีที่ดินเปล่า หรือมีแผนที่จะขยายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของตนเอง เข้าซื้อกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง อาทิ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้เข้าซื้อบริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อบริษัท ไทย พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผลให้บริษัทฯ มีอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญในบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทีซีซีกรุ๊ป ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท กรุงเทพบ้านและที่ดิน จากัด (มหาชน) เป็นต้น
ฟิทช์คาดว่า บริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการจะส่งผลกระทบค่อนข้างน้อยต่อสถานะทางธุรกิจและทางการเงินของบริษัทผู้นำตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจาก ขนาดธุรกิจกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยที่เล็กกว่าและตำแหน่งทางการตลาดที่ด้อยกว่าของบริษัทที่เกิดจากการควบรวมเหล่านี้ โดยฟิทช์ประมาณการรายได้ของบริษัทที่เกิดจากการควบรวมแต่ละรายไม่เกิน 20,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่รายได้ของผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 รายแรกอยู่ที่ระดับ 20,000-40,000 ล้านบาทต่อปี โดยรายได้รวมกันของผู้นำตลาดทั้งห้าคิดเป็นร้อยละ 55 ของรายได้รวมของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2556