บทวิเคราะห์ดังกล่าวของมูดีส์ระบุไว้ในรายงานชื่อ "Southeast Asia: ASEAN Economic Integration Credit Positive; Progress Is Incomplete," โดยราฮุล กอช รองประธานและนักวิเคราะห์อาวุโสของมูดีส์ และคริสเตียน เดอ กัซแมน รองประธานและนักวิเคราะห์อาวุโส
กอช กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศภายในภูมิภาคที่ดีขึ้นนี้ถือเป็นปัจจัยบวกต่อความน่าเชื่อถือสำหรับภูมิภาค เมื่อพิจารณาจากการขยายตัวในตลาดส่งออกที่สำคัญๆ เช่น จีน ซึ่งกำลังชะลอตัวลง
ประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียนตั้งเป้าที่จะผลักดันการรวมตัวในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ผ่าน 4 นโยบายหลัก ได้แก่ ตลาดเดี่ยวและฐานการผลิต, ภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ, การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน และการผนวกรวมกับเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ปริมาณการค้าภายในภูมิภาคอยู่ในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ที่ได้มีการยกเลิกการจัดเก็บภาษีของประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศเมื่อปี 2550 ได้แก่ บรูไน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย
มูดีส์ระบุว่า ความแข็งแกร่งของการค้าภายในภูมิภาค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24.2% ของทั้งภูมิภาคนั้น จะช่วยให้ประเทศสมาชิกมีความสามารถมากขึ้นในการรับมือกับภาวะผันผวนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ