บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่ระดับ 'AA-(tha)' อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1+(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ระดับ 'AA-(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: อัตราส่วนหนี้สินของ TOP ซึ่งคำนวณจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) ได้ลดลงสู่ระดับ 1.0 เท่า-1.5 เท่า ในปี 2558 ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับในปี 2554-2556 จาก 5.5 เท่าในปี 2557 โดยเป็นผลมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินการที่แข็งแกร่ง และความต้องการหนี้สินที่ลดลงเพื่อรองรับเงินทุนหมุนเวียนเนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลง ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวของบริษัทฯ จะลดลงและคงอยู่ในระดับประมาณ 1.0 เท่า-1.25 เท่า ในปี 2559-2560 ซึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ลดลงหลังจากที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่เสร็จสิ้นในปี 2559 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินในกรณีที่มีการลดลงของค่าการกลั่น และ/หรือ มีการลงทุนเพิ่มเติมได้
โรงกลั่นที่มีการผลิตแบบคอมเพล็กซ์และต้นทุนต่ำ: อันดับเครดิตของ TOP สะท้อนถึงการมีขนาดการผลิตที่ใหญ่เมื่อเทียบกับโรงกลั่นน้ำมันอื่นๆ ในประเทศ การมีกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ที่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปชนิดที่มีมูลค่าสูงได้ในสัดส่วนที่สูง การมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และการใช้กำลังการผลิตในอัตราที่สูง การพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตอย่างต่อเนื่อง และการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นยังช่วยทำให้ TOP สามารถรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี
การมีธุรกิจที่หลากหลาย: การขยายสายการผลิตของ TOP ไปยังการผลิตอะโรเมติกส์ น้ำมันหล่อลื่น และผลิตภัณฑ์สารทำละลาย เป็นการเพิ่มจำนวนชนิดของผลิตภัณฑ์ และลดความผันผวนของค่าการกลั่นของบริษัทฯได้ การเริ่มการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของสารเบนซีนในปี 2559 จะช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินค้าของบริษัทฯมากขึ้น นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะมีรายได้จากธุรกิจการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป เมื่อโรงไฟฟ้า 2 โรงที่สร้างขึ้นใหม่เริ่มทำการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตามสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจไฟฟ้าจะยังไม่สูงมากนัก โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6%-8% ของ EBITDA รวมของบริษัทฯ ในปี 2559
ธุรกิจมีความผันผวนสูง: อันดับเครดิตของ TOP ยังพิจารณารวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของวัฏจักรของธุรกิจ และความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว อีกทั้ง TOP ยังคงต้องพึ่งพา บมจ. ปตท. (อันดับเครดิตที่ AAA(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด สำหรับตลาดภายในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ มีการขายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่ให้กับ ปตท. ได้ถูกบรรเทาลงจากการที่ ปตท. มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ในการจัดจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย นอกจากนี้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงจากการที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาน้ำมันดิบจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงอีกด้วย
การเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเครดิตจากความสัมพันธ์กับ ปตท.: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TOP ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับอันดับเครดิตขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตของบริษัทฯ เมื่อพิจารณาตัวบริษัทฯโดยลำพัง (Stand-alone Rating) การปรับดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความสำคัญทางด้านกลยุทธ์ของ TOP ที่มีต่อ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 49% โดย TOP เป็นโรงกลั่นที่สำคัญในกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นบริษัทในเครือของ ปตท. รวมถึงเป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปหลักให้กับธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของ ปตท. อีกด้วย โดยปริมาณน้ำมันที่ขายให้แก่ ปตท. คิดเป็นหนึ่งในสามของความต้องการน้ำมันทั้งหมดในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของ ปตท.
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
- ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2559, 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2560, 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2561 และ 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2562 เป็นต้นไป โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ TOP;
- ค่าการกลั่นที่ลดลงในปี 2559:
- การใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่นที่ 102% ในปี 2559-2561;
- ส่วนต่างของราคาขายและต้นทุนของสารพาราไซลีนคาดว่าจะดีขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำในปี 2559;
- จำนวนเงินลงทุนที่ลดลงในปี 2559-2560 จากระดับในปี 2558
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- อัตราส่วน FFO-adjusted net leverage อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 0.75 เท่า อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีโอกาสเป็นไปได้น้อยในระยะ 2- 3 ปี ข้างหน้า
- ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. ที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยลบ:
- ค่าการกลั่นและส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและวัตถุดิบที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง และ/หรือ การลงทุนที่เพิ่มขึ้นโดยมีแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมซึ่งทำให้อัตราส่วน FFO-adjusted net leverage เพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่า 1.75 เท่า อย่างต่อเนื่อง
- ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. ที่ลดลง