(เพิ่มเติม) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. ซีพี ออลล์ ที่ ‘A(tha)’

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 7, 2016 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ สำหรับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันชุดใหม่ของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว A+(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ)

หุ้นกู้ดังกล่าวประกอบด้วยหุ้นกู้ 4 ชุด ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2564, 2566, 2569 และปี 2571 โดยมีจำนวนเงินรวมไม่เกิน 5 พันล้านบาท โดยเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวจะนำไปใช้สำหรับชำระคืนหนี้ไม่มีประกันบางส่วนของบริษัทฯ

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันได้รับการจัดอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ ของบริษัทผู้ออกหนึ่งอันดับ เนื่องจากหนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัทฯ เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน โดยมีอัตราส่วนหนี้สินมีประกันต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (Secured Debt to EBITDA) ที่ 4.4 เท่า ณ สิ้นปี 2558

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินที่ล่าช้า: แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อ่อนแอ ซึ่งจะส่งผลให้ CP ALL น่าจะต้องใช้เวลานานกว่าที่คาด ในการลดอัตราส่วนหนี้สินลงเพื่อให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน อัตราส่วนหนี้สินของ CP ALL ที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (funds flow from operations (FFO) adjusted net leverage) อยู่ที่ 6.0 เท่า ณ สิ้นปี 2558 และน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่าในปี 2560 ซึ่งไม่สอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ ‘A+(tha)’ โดยความล่าช้าดังกล่าวมีสาเหตุจากระดับกำไรและกระแสเงินสดที่อ่อนแอกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม CP ALL มีแผนที่จะขายสัดส่วนของการลงทุนใน บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ Makro บางส่วน และนำเงินที่ได้รับมาลดหนี้ ซึ่งน่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ CP ALL ลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 3.5 เท่าได้ในปี 2560

กระแสเงินสดเติบโตในระดับปานกลางแต่มั่นคง: ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ CP ALL จะเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 11 ในปี 2559 จากสาขาที่เปิดใหม่เป็นหลัก ในขณะที่อัตราการเติบโตของยอดขายต่อร้านค้าเดิม (Same-Store Sale) ของ 7-Eleven น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2-3 ในปี 2559 (อัตราการเติบโตดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ในปี 2558) อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอ บริษัทฯ ยังคงได้รับประโยชน์จากการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากสินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความผันผวนของรายได้และอัตรากำไรน้อย ในขณะที่ศักยภาพในการเติบโตของบริษัทฯ ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสภาวะของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยที่ยังเติบโตไม่ถึงระดับอิ่มตัว

ผู้นำในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ: CP ALL เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ฟิทช์เชื่อว่า CP ALL จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำทางการตลาดไว้ได้ แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกจะมีการแข่งขันที่สูง CP ALL มีจำนวนร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven มากกว่า 8,800 ร้านทั่วประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าร้อยละ 60 ในด้านจำนวนร้าน ซึ่งสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับสองเป็นอย่างมาก ความเป็นผู้นำในตลาดของ CP ALL มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีร้านค้าในเครือเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง รวมถึงการมีหน่วยงานในเครือที่สนับสนุนกิจการค้าปลีกของบริษัทฯ ได้แก่การบริการด้านลอจิสติกส์ การซ่อมแซมและบำรุงรักษาร้านค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน

เครื่องหมายการค้าที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง: CP ALL บริหารงานร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลก ภายใต้สัญญา Area License Agreement ที่ทำกับบริษัท 7-Eleven Inc., แห่งสหรัฐอเมริกา โดยได้เปิดดำเนินการร้านค้าแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2532 ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนร้านค้า 7-Eleven มากเป็นอันดับที่สองในโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น

ความสามารถในการแข่งขันที่ชัดเจน: การเข้าซื้อกิจการของ Makro ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสด และบริการตนเอง (Membership based Cash & Carry trade center) ในประเทศไทย ทำให้ CP ALL สามารถเพิ่มฐานลูกค้าทั้งในด้านปริมาณและความหลากหลาย หลังจากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว CP ALL ได้กลายเป็นผู้ประกอบกิจการค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) ประเภทอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความเป็นผู้นำทางการตลาดและประโยชน์จากการร่วมธุรกิจทำให้ทั้ง CP ALL และ Makro สามารถมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าผู้ค้าปลีกรายใหญ่รายอื่น โดยที่อัตรากำไรไม่ลดลง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอในช่วง 12-18 เดือนที่ผ่านมา

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้รวมมีการเติบโตในอัตราร้อยละ 11-12 ในปี 2559 และ 2560
  • อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) อยู่ที่ร้อยละ 9.5-10.0 ในปี 2559 และ 2560
  • มีการเปิดร้านค้าใหม่จำนวน 650 สาขาสำหรับร้าน 7-Eleven และ 13 – 14 สาขาสำหรับร้านค้าของ Makro ในปี 2559

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยลบ:

การไม่สามารถขายสัดส่วนการลงทุนใน Makro หรือมีมาตราการใหม่ๆ ที่จะสามารถทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ลดลงต่ำกว่า 3.5 เท่าได้ในปี 2560 (ณ สิ้นปี 2558: 6.0 เท่า)

อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ที่ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 8.5 อย่างต่อเนื่อง (ปี 2558: ร้อยละ 10.1)

การมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผลจ่าย (FCF) ที่เป็นลบต่อเนื่องกัน 2 ปี

ปัจจัยบวก:

แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพ หากบริษัทฯ สามารถลดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ