(เพิ่มเติม) ฟิทช์ชี้ผู้ผลิตปิโตรเคมีของไทยที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันต่ำ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 11, 2016 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ เผยกลุ่มผู้ผลิตปิโตรเคมีของไทยที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบ จะยังคงได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำในปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ผลิตที่ใช้ก๊าซ ซึ่งได้รับผลกระทบในส่วนของมาร์จิน

ทั้งนี้ ส่วนต่างระหว่างรายได้กับต้นทุนของกลุ่มผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบนั้นปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงซึ่งทำให้ราคาแนฟทาลดลงตาม แต่มาร์จินของกลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ใช้ก๊าซกลับปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาก๊าซไม่ได้ลดลงมากเหมือนกับราคาน้ำมันและแนฟทา ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวตามราคาแนฟทามากกว่า

ราคาแนฟทาลดลงอย่างมากในปี 2558 โดยปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 43 แต่ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย (pooled gas price) ในประเทศไทยปรับลดลงเพียงร้อยละ 13 ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และโพลีโอเลฟินส์ลดลงร้อยละ 20-40 และร้อยละ 20-25 ตามลำดับ เนื่องจากราคาแนฟทาที่ลดลง

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ของธุรกิจเคมีภัณฑ์ของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (อันดับเครดิตภายในประเทศที่ A(tha)/Stable) ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เคมีที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบหลักรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 20 ในปี 2558 จากประมาณร้อยละ 8 ในปี 2557 ในทางตรงกันข้ามอัตราส่วนดังกล่าวของธุรกิจโอเลฟินส์และอนุพันธ์ของ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (อันดับเครดิตภายในประเทศที่ AA(tha)/Stable) ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เคมีที่ใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบหลักรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 24 จากประมาณร้อยละ 26

ฟิทช์คาดว่าส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์โพลีโอเลฟินส์กับแนฟทาสำหรับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เคมีในประเทศไทยจะยัง คงอยู่ในระดับสูงในปี 2559 แม้ว่าส่วนต่างดังกล่าวจะถูกกดดันจากกำลังการผลิตใหม่ๆ ที่จะเริ่มดำเนินการโดยเฉพาะโพลีโพรพิลีน

ในประเทศอินเดียก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน โดยผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เคมีที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบหลักรายใหญ่สองรายประกอบด้วย Reliance Industries Ltd (RIL, อันดับเครดิตสากลที่ BBB-/Stable) และ Indian Oil Corporation Ltd (IOCL, อันดับเครดิตสากลที่ BBB-/Stable) ก็ได้รับประโยชน์จากราคาวัตถุดิบที่ลดลงและส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบที่แข็งแกร่งแม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์จะลดลงก็ตาม โดยกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ (EBIT margin) ของธุรกิจปิโตรเคมีของ RIL เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.2 ในช่วงเก้าเดือนแรกของปีงบการเงิน 2559 (สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2559) จากร้อยละ 8.4 ในช่วงเดียวกันของปีงบการเงินก่อนหน้า ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ของธุรกิจปิโตรเคมีของ IOCL เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.1 จากร้อยละ 9.1

ในอีกด้านหนึ่ง กำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ของธุรกิจปิโตรเคมีของ GAIL (India) Limited (GAIL, อันดับเครดิตสากลที่ BBB-/Stable) ซึ่งใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบปรับตัวลดลง โดย GAIL มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 6.9 พันล้านรูปี อินเดียนในช่วงเก้าเดือนแรกของปีงบการเงิน 2559 เมื่อเทียบกับการที่บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงาน 2.9 พันล้านรูปี อินเดียนในช่วงเก้าเดือนแรกของปีงบการเงิน 2558 ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานของ GAIL ในปีงบการเงิน 2559 จะยังคงต่ำกว่าในปีงบการเงิน 2558 แม้ว่ากำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ดังกล่าวน่าจะดีขึ้นจากความสำเร็จในการเจรจาปรับลดราคาซื้อก๊าซตามสัญญาซื้อขายระยะยาวจำนวนหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2558

ผลการดำเนินงานของธุรกิจปิโตรเคมีของ SK Innovation Co. Ltd (SKI, อันดับเครดิตสากลที่ BBB/Negative) ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เคมีที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบหลักในประเทศเกาหลี ปรับตัวดีขึ้นเช่นกันในปี 2558 ฟิทช์คาดว่า SKI จะยังคงได้รับประโยชน์จากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับแนฟทาที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่ในปี 2559


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ