(เพิ่มเติม) ฟิทช์คงอันดับเครดิต PTT แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 8, 2016 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ที่ระดับ ‘BBB+’ และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ ที่ระดับ ‘A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ในขณะเดียวกันฟิทช์คงอันดับเครดิตสากลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศของ PTT ที่ระดับ ‘F2’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ระดับ ‘AAA(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ฟิทช์ลดอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของ ปตท. ไปอยู่ที่ระดับ ‘BBB+’ จาก ‘A-’ ซึ่งเป็นผลจากการอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ดำเนินการโดยบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ ปตท. ถือหุ้นอยู่ 65% ปัจจัยหลักที่อ่อนแอลงได้แก่ ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (proved reserves) ของบริษัทฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในกลุ่ม ‘BBB’ นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ ปตท. สผ. จะลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2559 แต่อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ จะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ และบริษัทฯมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง

อันดับเครดิตสากลและอันดับเครดิตภายในระยะยาวประเทศของ ปตท. ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศที่ระดับ ‘A-’ ได้พิจารณารวมถึงอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งได้แก่รัฐบาลไทย (BBB+/A-/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทใหญ่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ซึ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนของภาครัฐต่อ ปตท. ในทางอ้อม (Implicit Support) ซึ่งเป็นผลจากการที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ปตท. รวมไปถึงขนาดและความสำคัญในระดับชาติของการดำเนินธุรกิจของ ปตท.

อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของ ปตท. อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยที่ ‘BBB+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ฟิทช์จะพิจารณาให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับแก่ อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของ ปตท. ในกรณีที่อันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทย ที่ ‘BBB+’

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่อ่อนแอลง: กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ ปตท. ลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะลดลงไปอีกในปี 2559 เนื่องจากราคาน้ำมันที่น่าจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปี 2558 อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นในอนาคตเมื่อตลาดเริ่มกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง ปัจจัยหลักที่ทำให้ฟิทช์มองว่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯ อ่อนแอลงได้แก่สถานะของปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง โดยปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วมีการลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงประมาณห้าปี ณ สิ้นปี 2558 แม้ว่าบริษัทฯ มีปริมาณทรัพยากร (contingent resources) อยู่เป็นจำนวนมากที่สามารถจะเปลี่ยนมาเป็นปริมาณสำรองได้ในอนาคตด้วยการลงทุนที่เพียงพอ อย่างไรก็ตามสถานะของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วจากแหล่งที่มีอยู่ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาสองถึงสามปีข้างหน้า

การผลิตที่คงที่หรืออาจลดลง: ต้นทุนการผลิตของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้มีการปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2558 และมีแนวโน้มที่จะลดลงได้อีกในปี 2559 แม้ว่าในอัตราที่ลดลง ปตท. สผ. ได้ลดแผนการลงทุนลงซึ่งจะส่งผลให้การผลิตลดลงในปี 2560 บริษัทฯ น่าจะคงปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปี 2559 ที่ระดับเดียวกันกับในปีก่อนหน้าที่ปริมาณการผลิตเทียบเท่าน้ำมันที่ 374,000 บาร์เรลต่อวัน

ความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม: บริษัทฯ ยังคงหาโอกาสที่จะทำการควบรวมและเข้าซื้อกิจการเพื่อเพิ่มสถานะปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและการผลิตในระยะสั้น ปตท. สผ. มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งด้วยจำนวนเงินสดกว่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2558 และมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น บริษัทฯ จึงสามารถที่จะรองรับการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการนอกเหนือจากการลงทุนในแหล่งผลิตเดิมได้ โดยไม่กระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทฯ มากนัก ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้กล่าวว่าจะเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่กำลังผลิตอยู่หรือใกล้ที่จะผลิต

ความเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจรของ ปตท.: อันดับเครดิตของ ปตท. สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรของบริษัทฯ และความมีเสถียรภาพจากการที่ ปตท. มีขนาดธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำที่มีขนาดใหญ่และมั่นคง ธุรกิจเหล่านี้ช่วยลดผลกระทบจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซที่มีความสม่ำเสมอ: สถานะทางการเงินของ ปตท. ได้รับประโยชน์จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีความสม่ำเสมอ อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่อง และสัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้ อัตราการทำกำไรของธุรกิจท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ และการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซ มีความยืดหยุ่นต่อความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน เนื่องจากส่วนต่างกำไรจากการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์ก๊าซจากโรงแยกก๊าซที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากราคาต้นทุนของก๊าซลดลงช้ากว่าราคาขาย ฟิทช์คาดว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อราคาต้นทุนก๊าซปรับลดลงตามเวลาในสัญญาและเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น โดยภาพรวมธุรกิจกลางน้ำของ ปตท. (ไม่รวมโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในเครือที่รวมเข้ามาในงบการเงินของ ปตท. ในปี 2558) คิดเป็นร้อยละ 20-25 ของกำไรรวมจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ (ไม่รวมโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในเครือ)

อัตราส่วนทางการเงินที่อ่อนแอลง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) จะสูงขึ้นในปี 2559 (2558: 1.3 เท่า) เนื่องจากกระแสเงินสดที่คาดว่าจะลดลงและเงินลงทุนที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่า ปตท. สผ. จะลดเงินลงทุนลง แต่เงินลงทุนของ ปตท. จะเพิ่มขึ้นในระยะเวลาสองปีข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการขยายกำลังการผลิตของสถานีรับจ่ายก๊าซ LNG ฟิทช์คาดว่า ปตท. น่าจะมีกระแสเงินสดสุทธิ (free cash flow) เป็นลบในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจาก FFO adjusted net leverage น่าจะอยู่ต่ำกว่า 2.25 เท่า และอัตราส่วนกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานต่อภาระดอกเบี้ยและค่าเช่า (FFO fixed charge coverage) น่าจะอยู่สูงกว่า 7 เท่าในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า นอกจากนี้ ปตท. มีเงินสดอยู่เป็นจำนวนมากที่จะสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทฯ

บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งชาติ: อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของ ปตท. ในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย ความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และการเป็นตัวจักรสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและเป็นผู้จัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติแต่เพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยซื้อก๊าซจากผู้ผลิตและนำมาขายให้แก่ผู้บริโภคก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ ปตท. ยังเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทยอีกด้วย

สมมุติฐานที่สำคัญ

  • ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 35 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2559, 45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2560, 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2561 และ 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2562 เป็นต้นไป;
  • ปริมาณการขายและการผลิตของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมคงที่ในปี 2559 แต่ EBITDA ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลดลง;
  • EBITDA จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติในปี 2559;
  • EBITDA จากธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันลดลงในปี 2559 เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบที่ลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก;
  • เงินลงทุนคิดเป็นร้อยละ 10-12 ของยอดขายในปี 2559-2560;
  • ไม่รวมการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีความสามารถในการรองรับการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินสำหรับการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการได้ในระดับหนึ่ง

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยโดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันยังคงเหมือนเดิม

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. ไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า เนื่องจากความอ่อนแอของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยเฉพาะสถานะปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ปัจจัยลบ:

  • การปรับลดอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย
  • ความสัมพันธ์กับภาครัฐที่ลดลงอาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตของอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศของ ปตท.

ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท. รวมไปถึง:

  • การลงทุนจำนวนมากโดยใช้เงินกู้ยืม และ/หรือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัดจาก FFO adjusted net leverage ที่สูงกว่า 2.75 เท่า
  • สถานะทางการเงินของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่อ่อนแอลง ซึ่งวัดจาก FFO adjusted net leverage ที่สูงกว่า 2.5 เท่า และการที่ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า
  • การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ ปตท.

สำหรับอันดับเครดิตของประเทศไทย มีปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ซึ่งได้แสดงไว้ในรายงานเครดิตลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 ดังนี้

ปัจจัยลบ:

  • การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจมหภาค (macroeconomic) เช่น ความไม่มั่นคงทางการเมืองครั้งใหม่
  • ภาระรับผิดชอบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่เกิดจากหนี้สินสาธารณะในภาพกว้างและหนี้สินภาคเอกชนที่สูง

ปัจจัยบวก:

  • การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายภาครัฐในการบริหารประเทศและการพัฒนาประเทศ เช่น การบรรเทาลงของความกดดันทางการเมืองและสังคม
  • การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าที่คาดการณ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ