ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้จัดอันความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะยาวของบมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ที่ 'A+(tha)' และความน่าเชื่อถือภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1(tha)' โดยให้แนวโน้มเชิงลบ
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ได้แก่ การที่ Makro เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในธุรกิจค้าส่งสมัยใหม่ประเภทอาหาร (Modern-Trade Food Wholesale) ในประเทศไทยมานานกว่า 25 ปี Makro มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างจากผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่รายอื่น โดย Makro มุ่งจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งได้แก่ ผู้ค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิม ผู้จัดจำหน่าย ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง (HORECA) รวมถึงลูกค้าที่เป็นองค์กร ซึ่งรายได้จากลูกค้าเหล่านี้มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 75 ของรายได้รวมในปี 2558
อัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำแต่เพิ่มสูงขึ้น โดยฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินของ Makro ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.3 เท่าถึง 1.4 เท่า ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เนื่องจาก Makro น่าจะยังคงดำเนินการขยายสาขาเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง Makro เริ่มมีการขยายสาขาเป็นจำนวนมากหลังจากที่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว A+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ได้เข้าซื้อกิจการของ Makro ในกลางปี 2556 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิดังกล่าวของ Makro ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.1 เท่า ณ สิ้นปี 2558 จากก่อนการถูกเข้าซื้อกิจการที่บริษัทฯ มีเงินสดมากกว่าหนี้สิน
นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของยอดขายที่แข็งแกร่งยังเป็นอีกปัจจัย โดยอัตราการเติบโตของยอดขายของ Makro น่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 9-10 ต่อปีในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายของสาขาที่เปิดใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและที่กำลังจะเปิดในอนาคต Makro มีแผนที่จะเปิดสาขาใหม่ประมาณ 10 สาขาต่อปีในปี 2559-2560 นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของยอดขายยังน่าจะได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวในประเทศไทย