มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุว่า เศรษฐกิจของไทยเติบโตต่ำกว่าแนวโน้มในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่าประเทศกำลังเผชิญกับความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของ GDP ในระยะยาว และยังส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี ประเทศไทย ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ Baa1 แนวโน้มมีเสถียรภาพนั้น ยังมีฐานะการคลังที่แข็งแกร่ง และมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกน้อย ขณะที่การจัดหาแหล่งเงินทุนอยู่ในสภาวะที่ดี ดังเห็นได้จากภาระหนี้ของรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ และความเสี่ยงด้านการชำระหนี้ที่อยู่ในวงจำกัด ส่งผลให้การบริหารนโยบายการเงินและหนี้สินเป็นไปในเชิงรุกและน่าเชื่อถือ
รายงานของมูดี้ส์ระบุว่า ตัวชี้วัดทางการคลังของไทยหลายตัวยังคงแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน แม้นโยบายการคลังแบบผ่อนคลายจะทำให้ระดับหนี้สูงขึ้นก็ตาม โดยอุปสงค์ภายในประเทศที่ซบเซาและราคานำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงเป็นปัจจัยสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในยามที่การส่งออกสินค้าหดตัวลง และดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างมากนี้เองได้ทำหน้าที่เป็นกันชนการไหลเวียนของเงินทุนที่ผันผวน
นอกจากนี้ การใช้จ่ายสาธารณะที่เพิ่มขึ้นและจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้ายังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย ท่ามกลางอุปสงค์ที่ซบเซาในต่างประเทศ และกิจกรรมในภาคเอกชนที่อ่อนแอ
มูดี้ส์ชี้ว่า การส่งออกสินค้าที่ลดลงนั้นส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับการชะลอตัวของการค้าทั่วเอเชียแปซิฟิก แต่ในทางตรงกันข้ามนั้น การส่งออกบริการของไทยยังคงแข็งแกร่งในช่วงปีที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะจากประเทศจีน
ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางการเมืองเกี่ยวกับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ถือเป็นปัจจัยถ่วงการขยายตัวเช่นกัน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภค
ในส่วนของความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอยลงของไทยนั้น มูดี้ส์ชี้ว่า เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของกลุ่มอาเซียน ซึ่งสัดส่วนของไทยในยอด FDI ของอาเซียนนั้นได้ปรับตัวลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
สำหรับในปี 2559 และ 2560 มูดี้ส์คาดว่า ไทยจะมีอัตราการขยายตัวของ GDP ในระดับเดียวกับปี 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มต่างๆ ดังที่กล่าวมา ได้แก่ อุปสงค์ภาคเอกชนและภาคบริการที่สวนทางกัน เช่นเดียวกับความแตกต่างระหว่างการส่งออกสินค้าและบริการ โดยมูดี้ส์ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% ในปี 2559 และ 3.0% ในปี 2560