บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ที่ 'A(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทฯ จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ภายหลังจากที่ BTSC ได้ทำสัญญากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในการซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และ ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ซึ่งมีมูลค่าโครงการประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความคล่องตัวทางการเงินที่ลดลง – อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ของ BTS Group น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงกว่า 3.5 เท่า (เป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทฯ ได้หากอัตราส่วนดังกล่าวยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง) ณ ปีงบการเงิน 2560 (ปีงบการเงินสิ้นสุด 31 มีนาคม) ถึงปีงบการเงิน 2563 (อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.7 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559) เป็นผลจากต้นทุนโครงการที่จะต้องจ่ายในช่วงปีงบการเงิน 2560 – 2564 โดย BTSC จะได้รับชำระเงินทั้งจำนวนจาก KT เร็วที่สุดในอีกสี่ปีข้างหน้า
ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน FFO adjusted net leverage ของ BTS Group จะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า ตั้งแต่ปีงบการเงิน 2564 เป็นต้นไป จากกำไรของบริษัทที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากรายได้จากการจัดหารถไฟฟ้าและการให้บริการเดินรถไฟฟ้า แม้ว่ากรุงเทพธนาคมจะใช้สิทธิตามที่ระบุในสัญญาในการชำระเงินเป็นปีที่หกแทนที่จะเป็นปีที่สี่ อย่างไรก็ตาม BTSC จะมีความคล่องตัวทางการเงินลดลงในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า จากดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเงินกู้สำหรับโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนต่อดอกเบี้ยจ่ายสุทธิ (FFO net cash interest coverage) จะปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 3.0 เท่า – 3.5 เท่า สำหรับ BTS Group และ 2.0 เท่า – 2.5 เท่า สำหรับ BTSC ในช่วงปีงบการเงิน 2561-2562
สภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอ – ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ BTS Group ได้พิจารณาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทฯ ซึ่งน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยบริษัทฯ มีกระแสเงินสดรับจากเงินปันผลจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง (บีทีเอสโกรท) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 33 รวมถึงเงินสดและเงินลงทุนของบริษัทฯ ที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามเงินปันผลรับจาก BTSC น่าจะลดลงอย่างมากในช่วงสี่ปีข้างหน้า
ความเสี่ยงในการดำเนินโครงการที่ต่ำ – ฟิทช์มองว่าโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลมีความเสี่ยงต่ำ โดยสัญญาระหว่างบริษัทฯ กับผู้รับเหมามีการส่งต่อความรับผิดชอบของบริษัทฯ ไปยังผู้รับเหมา โดยหนึ่งในผู้รับเหมาคือ บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล ประเทศไทย จำกัด (Bombardier) ซึ่งมีประสบการณ์ในฐานะผู้รับเหมางานติดตั้งระบบฯ ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบัน โดยผู้รับเหมาจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสี่ยงจากต้นทุนของโครงการที่อาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาด BTSC จะได้รับชำระดอกเบี้ยค้างจ่ายบนต้นทุนโครงการจากกรุงเทพธนาคมในอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าโครงการที่กรุงเทพธนาคมต้องจ่ายให้ BTSC ทั้งจำนวน กรุงเทพธนาคมเป็นวิสาหกิจที่ถือหุ้นทั้งหมดและควบคุมโดยกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้บริหารโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว (สถานีสะพานตากสิน – บางหว้า และสถานีอ่อนนุช – แบริ่ง) รวมถึงโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT)
กระแสเงินสดที่มั่นคง – ธุรกิจขนส่งมวลชน (ไม่รวมเส้นทางการเดินรถสายใหม่) และธุรกิจสื่อโฆษณาของ BTS Group เป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดได้สูงและมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ต่ำ ซึ่งเป็นสองธุรกิจหลักที่เป็นแหล่งเงินทุนให้กับ BTS Group สำหรับการลงทุนในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการขยายเส้นทางการเดินรถสายใหม่ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการขยายธุรกิจบริการ
ผู้นำในการให้บริการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ – BTS Group มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งมีเส้นทางครอบคลุมศูนย์กลางทางธุรกิจและการค้าในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สุขุมวิท สีลม และสาทร รถไฟฟ้าบีทีเอสรองรับผู้โดยสารกว่าร้อยละ 70 ของผู้โดยสารทั้งหมดในระบบขนส่งมวลชนแบบรางในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2558
ธุรกิจสื่อโฆษณาที่แข็งแกร่ง – ธุรกิจสื่อโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่โฆษณาบนเครือข่ายรถไฟฟ้าบีทีเอสและสื่ออื่นๆ จะยังคงสร้างผลกำไรและกระแสเงินสดในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า โดยทั่วไปแล้ว สื่อโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าซึ่งมีความผันผวนของรายได้ที่ต่ำน่าจะช่วยลดผลกระทบจากสภาวะอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาของประเทศไทยที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในช่วงหนึ่งปีข้างหน้านี้
ความเสี่ยงจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น – จุดแข็งที่กล่าวมาข้างต้นถูกลดทอนลงจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มซึ่งมีความเสี่ยงที่สูงกว่าธุรกิจขนส่งมวลชนและสื่อโฆษณา และแผนการลงทุนที่สูงในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในช่วงสามปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ระดับหนี้สินของ BTS Group เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่ากลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมบนทำเลใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าและการร่วมลงทุนกับบริษัทที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ น่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินโครงการ (execution risk) ดังกล่าว
ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูงและกระแสเงินสดสุทธิติดลบ – BTS Group มีแผนการลงทุนจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทในช่วงสามปีข้างหน้า โดยประมาณร้อยละ 30 ของเงินจำนวนนี้ จะใช้สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจบริการของกลุ่ม นอกจากนี้ BTS Group ยังมีแผนการใช้เงินจำนวน 1.8-2.0 หมื่นล้านบาท สำหรับการเข้าซื้อกิจการ การเพิ่มทุน และการให้กู้ยืม แก่บริษัทร่วมและบริษัทร่วมทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการลงทุนในโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งน่าจะส่งผลให้กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow – FCF) ติดลบในช่วงสามปีข้างหน้า
ความยืดหยุ่นทางการเงินที่จำกัดเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตปัจจุบัน – ฟิทช์คาดว่า BTSC จะใช้เงินกู้ระยะยาวที่ชำระคืนเพียงครั้งเดียวเมื่อครบอายุสัญญาในการดำเนินโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และสอดคล้องกับกระแสเงินสดที่ต้องใช้ อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นจากเงินกู้ยืมดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงอย่างมาก ดังนั้น การลงทุนที่เพิ่มขึ้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาดในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า หรือการกู้ยืมที่มีต้นทุนสูง อาจมีผลกระทบในแง่ลบต่ออันดับเครดิต
BTS Group และ BTSC มีอันดับเครดิตที่เท่ากัน – ฟิทช์พิจารณาอันดับเครดิตโดยมองภาพรวมทั้งกลุ่มบริษัท จากการที่บริษัทแม่และบริษัทลูกมีความสัมพันธ์ที่สูงทั้งในด้านการดำเนินงานและด้านกลยุทธ์ ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตของฟิทช์เรื่องความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ (BTS Group)
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) อยู่ที่ระดับร้อยละ 30-33 ในช่วงสามปีข้างหน้า
- ธุรกิจขนส่งมวลชนของบริษัทฯ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท ในช่วงปีงบการเงิน 2560-2562 ไม่รวมส่วนของเงินลงทุนสำหรับการเข้าซื้อกิจการ การเพิ่มทุนและให้กู้ยืมแก่บริษัทร่วมและบริษัทร่วมทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนในโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
- บริษัทฯ ได้รับชำระเงินจากโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเต็มจำนวนในปีงบการเงิน 2564
- จ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง ในปีงบการเงิน 2560
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจากหนี้สินที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และความคล่องตัวทางการเงินที่ลดลงจากโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
ปัจจัยลบ:
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนต่อดอกเบี้ยจ่ายสุทธิ (FFO net cash interest coverage) ต่ำกว่า 3.0 เท่า สำหรับ BTS Group หรือต่ำกว่า 2.5 เท่า สำหรับ BTSC
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือกำไรที่ลดลง หรือความล่าช้าในการรับชำระเงินจากโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ส่งผลให้ FFO adjusted net leverage ของ BTS Group ยังคงสูงกว่า 3.5 เท่า ในปีงบการเงิน 2564
- ความเสี่ยงทางธุรกิจของ BTS Group เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ