บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวให้กับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) เป็นครั้งแรก ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความเสี่ยงด้านปริมาณการขายที่ต่ำ; คู่ค้าที่แข็งแกร่ง: รายได้ของ GPSC ส่วนใหญ่มาจากสัญญาการขายไฟฟ้าและไอน้ำ กับลูกค้าซึ่งมีสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งประกอบด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และบริษัทร่วมของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปตท.ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)/Stable’ สัญญาการขายไฟฟ้าและไอน้ำดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงจากปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง โดยลูกค้าต้องรับซื้อไฟฟ้าและไอน้ำขั้นต่ำ 75% ของกำลังการผลิตตามสัญญา
มีความเสี่ยงด้านราคาเล็กน้อย: กำไรของ GPSC จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าประเภทอุตสาหกรรม หรือ Industrial Users ซึ่งรวมถึงบริษัทร่วมของ ปตท. มีความเสี่ยงด้านราคาขายเล็กน้อย ถึงแม้ว่าสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าจะใช้ราคาเชื้อเพลิงเข้ามาร่วมประกอบการพิจารณา แต่การปรับค่าไฟฟ้าแต่ละครั้งนั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งในอดีตได้มีความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นในการปรับค่าไฟฟ้าโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ค่าไฟฟ้าที่ขายให้กฟผ. แบบ Non-firm นั้นขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ไฟฟ้า และความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของระบบโดยรวมในขณะนั้น
กำไรที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของ GPSC จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ประมาณ 4.5 พันล้านบาท ในปี 2561 จาก 2.7 พันล้านบาท ในปี 2558 เนื่องจากโครงการใหม่เริ่มดำเนินงาน ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตของรายได้มาจาก 2 โครงการหลัก ซึ่งประกอบด้วยโครงการ ไออาร์พีซี คลีนพาวเวอร์ ระยะที่ 2 (IRPC-CP Phase 2) และ โรงผลิตสาธารณูปโภคหน่วยที่ 4 (CUP 4) ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินงานระหว่างปี 2560 และ 2561 โดยโครงการทั้งสองน่าจะเพิ่ม EBITDAR ให้กับ GPSC ประมาณ 1.2 พันล้านบาท ต่อปี
การลงทุนที่สูง: ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ GPSC น่าจะติดลบในช่วงปี 2559 และ 2560 เนื่องจากการลงทุนที่สูงในโครงการใหม่ ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานน่าจะยังคงไม่เพียงพอสำหรับเงินลงทุน และจ่ายเงินปันผลในช่วงเวลาดังกล่าว ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ของ GPSC น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2.6 เท่า ในปี 2560 จาก 0.2 เท่า ในปี 2558 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.8 เท่า ในปี 2561 และ 1.4 เท่า ในปี 2562 เนื่องจากกำไรที่เพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะต้องใช้เงินลงทุน (รวมถึงเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อย) จำนวน 10.2 พันล้านบาท ในปี 2560 ถึง 2562
การเชื่อมโยงด้านการดำเนินการกับ ปตท.: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ GPSC ที่ ‘A+(tha)’ ได้พิจารณารวมถึงผลประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับปตท. โดยเฉพาะจากความแข็งแกร่งด้านธุรกิจและการเงินของบริษัทร่วมของปตท. ในฐานะลูกค้าของบริษัท และความเสี่ยงที่ต่ำจากการซื้อไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัทเหล่านี้ รายได้และกำไรของ GPSC ต้องพึ่งพิงกลุ่มปตท.เป็นหลัก อย่างไรก็ตามรายได้จากการดำเนินงานและสถานะทางธุรกิจของ GPSC ต่อรายได้จากการดำเนินงานและสถานะทางธุรกิจโดยรวมของปตท. ยังคงน้อยมากในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ฟิทช์อาจพิจารณาความเชื่อมโยงกับปตท.อีกครั้ง หากรายได้จากการดำเนินงานของ GPSC ต่อ ปตท. เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลให้อันดับเครดิตของ GPSC มีการปรับเพิ่ม ถ้าฟิทช์สรุปว่า GPSC อาจได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกลุ่มปตท.
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ โดยธุรกิจและความสม่ำเสมอของกำไรของบริษัทมีความใกล้เคียงกับบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)/Stable’) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินหลักของประเทศไทย และ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)/Stable’) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในกรุงเทพมหานคร โดยบริษัทเหล่านี้มีกำไรที่มีความสม่ำเสมอเนื่องจากการแข่งขันที่ต่ำ หรือในกรณีของ GPSC ที่มีสัญญาซื้อขายกับลูกค้าระยะยาว อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรของ GPSC อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ BAFS แต่ดีกว่า BTSG อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ BTSG ได้พิจารณาถึงสถานะทางการเงินที่จะดีขึ้นตามลำดับหลังจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทแล้วเสร็จ
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- ประมาณการงบการเงินรวมของ GPSC ได้ถูกปรับโดยใช้วิธี Proportionate Consolidation ทั้งในส่วนรายได้, กระแสเงินสด, เงินสด และหนี้ของ IRPC-CP;
- กำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2559 จากปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำที่เพิ่มขึ้นของโครงการ CUP 1-3;
- โครงการ IRPC-CP Phase 2 และ CUP 4 เริ่มดำเนินงานในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ
- เงินปันผลรับจากบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ประมาณ 500-700 ล้านบาทต่อปี (2558: 607 ล้านบาท)
- เงินลงทุนจำนวน 2.8 พันล้านบาท ในปี 2559 และ 4.6 พันล้านบาท ในปี 2560 และเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อยจำนวน 2.8 พันล้านบาทในปี 2559 และ 1.4 พันล้านบาทในปี 2560
- จ่ายเงินปันผลประมาณ 50% ของกำไรสุทธิ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากฟิทช์คาดว่าสถานะทางธุรกิจของ GPSC ไม่น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว
ปัจจัยลบ
- กำไรที่อ่อนแอกว่าที่คาด และ/หรือเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาดซึ่งส่งผลให้ FFO-Adjusted Net Leverage ของบริษัทเพิ่มขึ้นเกิน 2.5x อย่างต่อเนื่อง
- สถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอลงจากการลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานสูง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องของ GPSC มีความแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 บริษัทมีเงินสดจำนวน 7.5 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับหนี้ที่ครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.6 พันล้านบาท ถึงแม้ว่า Free Cash Flow จะติดลบในปี 2560 บริษัทมีวงเงินที่สามารถเบิกกู้ได้จำนวน 12.4 พันล้านบาท เพื่อชดเชยกระแสเงินสดที่ติดลบดังกล่าว
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
GPSC
-- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว จัดอันดับเครดิตที่ ‘A+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ