(เพิ่มเติม) ฟิทช์มอง DTAC งดจ่ายเงินปันผลเป็นผลดีต่ออันดับเครดิต แต่ชี้บริษัทยังเผชิญความเสี่ยงอื่นๆ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 1, 2017 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า การที่บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC; BBB/AA(tha)/Stable) ประกาศงดจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2559 นั้น เป็นสัญญาณว่า ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะควบคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Financial Leverage) ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด และการลงทุนในคลื่นความถี่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลงของ DTAC จากการที่ส่วนแบ่งการตลาดเชิงรายได้ (Service Revenue Market Share) ลดลงต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา น่าจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตในระยะกลาง 1-2 ปีข้างหน้า

การงดจ่ายเงินปันผลจะช่วยลดความกังวลได้บางส่วนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจาก DTAC สามารถเตรียมตัวสำหรับการลงทุนในคลื่นความถี่ที่น่าจะอยู่ในระดับสูงในปี 2561 ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เป็นบวกในปี 2560 ในกรณีที่ DTAC ไม่จ่ายเงินปันผล โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ระดับประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท จะเพียงพอสำหรับเงินลงทุนที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7-2.0 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) น่าจะปรับดีขึ้นมาอยู่ที่ 1.6 เท่าในปี 2560 จาก 1.9 เท่าในปี 2559 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถของบริษัทในการรองรับ การลงทุนในโครงข่าย และคลื่นความถี่ใหม่ ในปี 2561 ได้ อัตราส่วนดังกล่าวน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2561 แต่น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน

DTAC มีความจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่ใหม่ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเพื่อมาทดแทนคลื่นความถี่ภายใต้สัญญาสัมปทาน และรองรับการเติบโตของการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น โดยยังคงรักษาคุณภาพการให้บริการ คลื่นความถี่ส่วนใหญ่ที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 35MHz นั้นอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานซึ่งมีระยะเวลาเหลือสำหรับใช้งานที่สั้นและจะหมดอายุในปี 2561 แม้ว่าบริษัทจะมีคลื่นความถี่รวมทั้งหมดถึง 50MHz ในขณะที่คลื่น 2.1GHz จำนวน 15MHz ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาตนั้น ไม่น่าจะเพียงพอในการรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้าได้

ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ DTAC จะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันในปี 2560 เนื่องจากสภาพการดำเนินธุรกิจที่ยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง คู่แข่งของ DTAC น่าจะยังคงใช้กลยุทธ์ในการแข่งขันที่รุนแรงในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด โดยฟิทช์คาดว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (BBB+/AA+(tha)/Stable) ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้กลับไปอยู่ที่ระดับสูงกว่า 50% หลังจากส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ในขณะที่ฟิทช์คาดว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TrueMobile ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอันดับที่สามของประเทศ จะยังคงแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดเพื่อที่จะเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับที่สองของประเทศ

ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมรายได้จากค่าเชื่อมโยงเครือข่าย) ของ DTAC จะปรับตัวลดลง 1.0%-2.0% ในปี 2560 (ปี 2559 ปรับตัวลดลง 2.3%) เนื่องจากบริษัทน่าจะยังคงสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง รายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวลดลง (เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) มา 11 ไตรมาสติดต่อกันจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 26% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 (ปี 2558 อยู่ที่ 30% และ ปี 2557 อยู่ที่ 29%) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 DTAC ยังคงสูญเสียลูกค้าไปยังผู้ประกอบการรายอื่นจำนวน 340,000 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ