(เพิ่มเติม) ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิต IRPC เป็นมีเสถียรภาพ; คงอันดับเครดิตที่ ‘A-(tha)’

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 8, 2017 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เป็นแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ จากแนวโน้มเครดิตเป็นลบ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์คงอันดับคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทฯ ที่ระดับ ‘A-(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ระดับ ‘A-(tha)’

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงการที่ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการรองรับการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ เมื่อเทียบกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันมีมากขึ้น โดยฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ โดยคำนวณจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) น่าจะอยู่ในระดับ 3.5 ถึง 4 เท่าในปี 2559-2560 จากที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.5 ถึง 4.5 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากระดับหนี้สินที่ต่ำกว่าที่คาดในปี 2558 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และการขยายเทอมการค้ากับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (AAA(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่จะยังคงต่อเนื่องไป ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ จะลดลงหลังจากปี 2561

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ผลประกอบการที่คาดว่าจะดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ น่าจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มากกว่าหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยการเริ่มดำเนินงานของโครงการใหม่ 2 โครงการหลักซึ่งได้แก่โครงการ Upstream Project for Hygiene & Value-Added-Product และ Polypropylene Expansion and Polypropylene inline Compound จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กำไรดังกล่าวเพิ่มขึ้นในปี 2560-2561 แม้ว่าสถานะทางเครดิตของบริษัทฯ จะถูกลดทอนจากความเสี่ยงที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น ตลอดจนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลก แต่โครงการเหล่านี้จะทำให้บริษัทฯ สามารถกลั่นน้ำมันโดยใช้กำลังการผลิตที่มากขึ้น และมีกำไรที่มากขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอีกด้วย

ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่ลดลง, อัตราส่วนทางการเงินที่ดีขึ้น: ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของบริษัทฯ น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2560 เนื่องจากการลงทุนในโครงการหลักดังกล่าว โดยค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูงในปี 2559-2560 ส่วนหนึ่งมาจากความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการหลักดังกล่าว อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของบริษัทฯ จะลดลงอย่างมากในปี 2561 เป็นต้นไป ซึ่งอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ก็จะปรับตัวลดลงหลังจากปี 2560 เนื่องจากกำไรจากการดำเนินงานที่มากขึ้นและหนี้สินที่ลดลง แม้ว่าการจ่ายเงินปันผลน่าจะยังคงสูงอยู่

การขยายเทอมการชำระเงินช่วยเสริมสภาพคล่อง: ฟิทช์คาดว่าการขยายเทอมการค้าในการซื้อน้ำมันดิบกับ ปตท. น่าจะยังคงช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ ต่อไป ซึ่ง IRPC ได้รับการเทอมการค้าที่ 60 วันจาก ปตท. ต่อเนื่องไปจนสิ้นปี 2560 แม้ว่าเทอมดังกล่าวจะลดลงมาจาก 90 วันในช่วงกลางปี 2559 IRPC คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถขยายเทอมดังกล่าวไปจนปี 2561 หากทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่ามีความจำเป็นต่อ IRPC

สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้น: การเพิ่มขึ้นของสินค้าที่มีมูลค่าสูงจากการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต จะช่วยเพิ่มส่วนต่างของราคาขายและต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นและลดความผันผวนของรายได้ของบริษัทฯ IRPC มีความได้เปรียบในการแข่งขันเนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย รวมถึงประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและชื่อเสียงของบริษัทฯ ในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายอันยาวนานในประเทศไทย การมีการผลิตที่ครบวงจรดังกล่าว สร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยังช่วยลดความผันผวนของรายได้เมื่อเทียบกับผู้ผลิตที่มีการผลิตที่ไม่ครบวงจร

การเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเครดิต: อันดับเครดิตระยะยาวของ IRPC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเครดิต จากการเชื่อมโยงกับ ปตท. ความเกี่ยวโยงนี้รวมถึงการที่บริษัทฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการเงินส่วนกลางของกลุ่ม ปตท. และการสับเปลี่ยนหมุนเวียนของผู้บริหารระดับสูงระหว่าง ปตท. และบริษัทในเครือซึ่งรวมถึงบริษัทฯ ด้วย อีกทั้ง ปตท. ยังได้ให้การสนับสนุนทางการค้า เช่น การขยายเทอมการค้าสำหรับการชำระค่าวัตถุดิบ

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

          อันดับเครดิตของ IRPC สะท้อนถึงการเป็นผู้ผลิตที่มีกระบวนการผลิตต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย  อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจของ IRPC ยังอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต  ในขณะที่ IRPC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งดังกล่าว    IRPC มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่าบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (AA(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (AA-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่ามาก     เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO: F1(tha) สำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นสำหรับตั๋วแลกเงิน) IRPC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่าเล็กน้อย แต่ฟิทช์มองว่า ESSO มีความเชื่อมโยงกับบริษัทแม่ที่มากกว่ามาก

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2560, 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2561, 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2562 และ 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2563 เป็นต้นไป โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ IRPC
  • Gross integrated margins ที่สูงขึ้นในปี 2560-2563
  • จำนวนเงินลงทุนที่สูงในปี 2559-2560 และลดลงในปี 2561-2563
  • การขยายเทอมการค้าจาก ปตท. ที่ 60 วัน ยังคงต่อเนื่องในปี 2560 และลดลงสู่ระดับปกติที่ 30 วันภายในปี 2561
  • จ่ายปันผลประมาณ 45%-50% ของกำไรสุทธิ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก

  • ความสามารถในการรักษาอัตราส่วน FFO-adjusted net leverage ต่ำกว่า 3 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • ความมีวินัยในการใช้เงินลงทุนและการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น และการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปรับลดอัตราส่วนหนี้สินให้ดีขึ้น
  • ความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ ต่อ ปตท. ที่เพิ่มขึ้น

ปัจจัยลบ

  • กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด การเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนที่ใช้หนี้เป็นแหล่งเงินทุน หรือการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในระดับสูง อันเป็นผลให้อัตราส่วน FFO-adjusted net leverage สูงกว่า 4.5 เท่า (3.8 เท่า ในปี 2558) อย่างต่อเนื่อง
  • ความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ ต่อ ปตท. ที่ลดลง

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่เพียงพอ: สภาพคล่องของ IRPC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่มีอยู่จำนวน 2 พันล้านบาทและวงเงินกู้ระยะสั้นที่สามารถเบิกกู้ได้จำนวน 5.7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีเทอมการค้าสำหรับการชำระค่าวัตถุดิบที่สามารถขยายได้ และวงเงินกู้ระยะสั้นที่สามารถเบิกกู้จาก ปตท. จำนวนหนึ่งหมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากห้าพันล้านบาทในปีที่แล้ว) นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีวงเงินกู้ระยะยาวจำนวนสองหมื่นล้านบาท ซึ่งเตรียมไว้สำหรับใช้ชำระคืนตราสารหนี้จำนวน 238 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตราสารหนี้จำนวน 7.4 พันล้านบาท และเงินกู้ธนาคารจำนวน 3.7 พันล้านบาทที่ครบกำหนดชำระในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ