มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของตุรกี ลงสู่ระดับ Ba3 จากระดับ Ba2 พร้อมกับเปลี่ยนแปลงแนวโน้มความน่าเชื่อถือของตุรกี เป็น "เชิงลบ" จากเดิม "มีเสถียรภาพ"
มูดี้ส์ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ตุรกีถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ มาจากความอ่อนแอของสถาบันต่างๆในภาครัฐ และการกำหนดนโยบายที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ นอกจากนี้ มูดี้ส์ยังระบุถึง ความไม่เป็นอิสระของธนาคารกลางตุรกี และการที่รัฐบาลไม่มีแผนการที่น่าเชื่อถือ ในการจัดการกับปัญหาด้านการเงินที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
"การใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน และค่าเงินที่ร่วงลง ประกอบกับความเสี่ยงด้านการเงินที่เพิ่มขึ้น มีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของตุรกี" มูดี้ส์ระบุ
ทางด้านสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตุรกี ลง 1 ขั้น จากระดับ BB- สู่ระดับ B+ ซึ่งเป็นระดับ "ขยะ" โดยระบุถึงผลกระทบจากการร่วงลงอย่างหนักของค่าลีราของตุรกี และการคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจตุรกีจะหดตัวลงในปีหน้า นอกจากนี้ S&P ยังระบุว่า รัฐบาลตุรกีไม่สามารถจัดการกับวิกฤตค่าเงินของประเทศได้
นอกจากนี้ S&P คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของตุรกีจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 22% ในช่วง 4 เดือนข้างหน้า และคาดว่าการร่วงลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคเอกชนที่กำลังเผชิญปัญหาหนี้สิน และจะทำให้การระดมทุนในภาคธนาคารของตุรกีเป็นไปอย่างยากลำบาก
อย่างไรก็ตาม S&P ยังคงแนวโน้มความน่าเชื่อถือของตุรกีเอาไว้ที่ระดับ "มีเสถียรภาพ"