มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส รายงานว่า การอ่อนค่าลงของเงินหยวนนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อสินเชื่อของจีนในขณะนี้ แต่เงินหยวนจะยังคงผันผวนต่อไปอีกระยะ
มูดี้ส์ระบุว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนซึ่งมีระดับความน่าเชื่อถือ A1 และมีเสถียรภาพนั้น ทำให้จีนมีมูลภัณฑ์กันชนที่เพียงพอที่จะรับมือกับความผันผวนของเงินหยวน ซึ่งร่วงลงไปกว่า 9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่กลางเดือนเม.ย.ปีนี้
อย่างไรก็ดี ในระยะยาวนั้น มูดี้ส์มองว่า เงินหยวนจะมีความผันผวนมากขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปสู่การขาดดุลในระดับโครงสร้าง
ในขณะเดียวกัน มูดี้ส์ระบุว่า นโยบายของจีนควรจะมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อบริหารจัดการกับความผันผวนที่มีมากขึ้นของสกุลเงิน
บทวิเคราะห์ของมูดี้ส์ในรายงานที่มีชื่อว่า "Government of China: Renminbi depreciation has no immediate credit impact; expanded policy tools to manage rise in volatility over time" ยังระบุด้วยว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนในปีนี้นั้น มีลักษณะที่เหมือนกันในบางส่วนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น และยังเป็นช่วงที่มีสัญญาณของการชะลอตัวลงของการขยายตัวของจีนอันเนื่องมาจากเงินหยวนที่อ่อนค่าลง
เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานั้น การที่นโยบายไม่มีความโปร่งใสและนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับมาตรการต่างๆที่ได้มีการนำมาใช้เพื่อรับมือกับการปรับฐานอย่างรุนแรงในตลาดหุ้น และการบริหารจัดการความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยนก็ยิ่งทำให้สกุลเงินมีความผันผวนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ความไม่แน่นอนด้านนโยบายที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากวิธีการจัดสมดุลระหว่างการปรับลดหนี้สินและการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งยังคงประสบปัญหา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาทการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ