มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัสเซียลงสู่ระดับ Ca ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุดอันดับที่สอง โดยระบุว่า การที่ธนาคารกลางรัสเซียใช้มาตรการควบคุมเงินทุนนั้น อาจจะส่งผลให้รัสเซียเผชิญกับข้อจำกัดในการชำระหนี้ต่างประเทศ และอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางรัสเซียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 10.5% สู่ระดับ 20% จากระดับ 9.5% เพื่อสกัดการทรุดตัวของค่าเงินรูเบิล อันเนื่องมาจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรที่นานาชาติบังคับใช้กับรัสเซีย นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังสั่งให้บริษัทเอกชนของรัสเซียขายสกุลเงินต่างประเทศที่ถือครองอยู่ในอัตราส่วน 80% ของรายได้ที่ได้จากการซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศ
ทั้งนี้ มูดีส์ระบุว่า การตัดสินใจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัสเซียในครั้งนี้ พิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ตามพันธกรณีของรัสเซีย หลังจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 มี.ค.) ธนาคารกลางรัสเซียได้ระงับการชำระอัตราดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองพันธบัตรสกุลเงินรูเบิล และไม่ได้แถลงอย่างชัดเจนว่ามาตรการควบคุมเงินทุนของรัสเซียจะบังคับใช้เป็นเวลานานเพียงใด
ก่อนหน้านี้สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัสเซียจากเดิมที่ "BB+" ลงสู่ "CCC-" ซึ่งเป็นระดับขยะ (junk) หลังประชาคมโลกร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซีย ขณะที่มาตรการควบคุมเงินทุนเพื่อพยุงเศรษฐกิจของรัสเซียเองนั้นมีแนวโน้มเพิ่มความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้
นอกจากนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัสเซียลง 6 ขั้น จากระดับ BBB สู่ระดับ B ซึ่งเป็นระดับขยะ โดยระบุว่า การที่ชาติตะวันตกได้พากันคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อตอบโต้กรณีใช้กำลังทหารรุกรานยูเครนนั้น ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของรัสเซียตกอยู่ในความไม่แน่นอน และอาจทำให้พันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลรัสเซียขาดความน่าเชื่อถือ