มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส คาดการณ์ว่า ความเสี่ยงที่อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารนั้น ยังคงอยู่ในกรอบจำกัด นอกเสียจากว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวยังคงยืดเยื้อ
การล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) ได้ส่งผลให้ภาคธนาคารของสหรัฐเผชิญวิกฤตความเชื่อมั่น และนำไปสู่การแห่ถอนเงินฝาก หรือ bank run ในธนาคารระดับภูมิภาคหลายแห่งของสหรัฐ แม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินได้ออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของประชาชนก็ตาม
"การดำเนินงานของธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐที่ถดถอยลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ภาคธนาคารสหรัฐเผชิญความเสี่ยงมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา โดยขณะนี้อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐอยู่ที่ Aaa และแนวโน้มมีเสถียรภาพ" มูดี้ส์ระบุในแถลงการณ์ในวันพุธ (29 มี.ค.)
ทั้งนี้ แม้มูดี้ส์ไม่คาดว่าวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนด้านการคลังของรัฐบาลสหรัฐ แต่หากวิกฤตการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อยาวนาน ก็อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจและสถานะการคลังของสหรัฐอ่อนแอลง
รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการ SVB และ SB ในช่วงต้นเดือนมี.ค. พร้อมกับมอบหมายให้บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เข้าควบคุมกิจการและเป็นผู้ดูแลเงินฝากของ SVB และ SB หลังจากธนาคารทั้งสองแห่งประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากการที่ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตาร์ตอัปในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนั้นแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดนั้น ธนาคารแฟลกสตาร์ แบงก์ (Flagstar Bank) ซึ่งเป็นธนาคารในเครือของนิวยอร์ก คอมมูนิตี้ แบงก์คอร์ป อิงค์ (New York Community Bankcorp Inc) ได้บรรลุข้อตกลงกับ FDIC เพื่อเข้าซื้อกิจการของ SB และต่อมาในวันที่ 27 มี.ค. ธนาคารเฟิร์สต์ ซิติเซนส์ แบงก์แชร์ส (First Citizens BancShares) ได้บรรลุข้อตกลงกับ FDIC ในการเข้าซื้อกิจการ SVB