ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานด้านวิชาการของสหรัฐเผยความเคลื่อนไหวแบบ 2 ทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนของจีนนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยน
ยยูคอน หวง เจ้าหน้าที่อาวุโสของ Asia Program of the Carnegie Endowment for International Peace กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ส่วนที่สำคัญของการปฏิรูปคือ การตระหนักว่านโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นของจีน จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวทั้งขึ้นและลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับจีนและทั่วโลก
หวงกล่าวในการสัมภาษณ์เรื่องการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนของจีนที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2548 ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้สกุลเงินแข็งค่าขึ้นตลอด เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เคลื่อนไหวเพียงทิศทางเดียวจะทำให้เกิดการเก็งกำไร และนั่นไม่ใช่เรื่องที่ดี
ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง และยอดเกินดุลการค้าหดตัวลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) นั้น หวงเชื่อว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับจีนในขณะนี้ก็คือ การส่งเสริมความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน
"หากมีช่วงเวลาที่เงินหยวนอ่อนค่าลงจริงๆประมาณ 2-3 เดือนก็จะถือว่าดี" หวงกล่าว
เงินหยวนมักจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่แข็งแกร่งประมาณ 2% นับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ซึ่งสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่หลายสกุลกลับร่วงลงอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกัน
หวงชี้ว่า "การปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนที่ประสบความสำเร็จก็คือ เมื่อคุณตระหนักว่าอัตราแลกเปลี่ยนสามารถเคลื่อนไหวได้ใน 2 ทิศทาง และนักเก็งกำไรในตลาดก็จะไม่สามารถคาดเดาทิศทางของการเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป"
หวงกล่าวว่า "ผมคิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับจีน"
ทางด้านยี่ กัง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีนกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีการคาดการณ์เรื่องการเคลื่อนตัวแบบ 2 ทิศทางของเงินหยวนในตลาดสปอตและตลาดล่วงหน้าเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าเงินหยวนของจีนนั้น เป็นสกุลเงินที่อิงตลาดมากขึ้น
ยี่กล่าวว่าสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอุปทานและอุปสงค์ในตลาด ซึ่งจะมีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน
การลงทุนในต่างประเทศ
หวง กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะมีความเป็นจริงเท่าไรนักสำหรับจีนในช่วง 2 ปีข้างหน้าที่จะสามารถแปลงสภาพเงินหยวนภายใต้บัญชีทุน ซึ่งจำเป็นต้องมีสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง ตลาดทุนที่มั่นคง ตลาดพันธบัตรภายในประเทศที่มีการพัฒนามาเป็นอย่างดี รวมทั้งการศึกษาด้านการเงินของนักลงทุน
อย่างไรก็ดี หวงกล่าวว่า จีนควรจะยกเลิกข้อจำกัดเรื่องกระแสเงินทุนหมุนเวียนต่อไป และสนับสนุนบริษัทของจีนและภาคครัวเรือนให้ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะกำจัดความกังวลเรื่องกระแสเงินทุนจำนวนมหาศาลไหลออกนอกประเทศ
หวงกล่าวว่า "ความกังวลของจีนไม่ใช่ประเด็นที่ว่า จะมีเงินไหลเข้าประเทศมาเพียงพอหรือไม่ แต่ความกังวลของจีนในมุมมองของผมก็คือ มีเงินไหลเข้าประเทศมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หมายความว่า ควรจะมีการเปิดทางให้เงินไหลออกนอกประเทศอย่างยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น"
เขากล่าวว่า ธนาคารกลางจีนตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้พยายามสกัดกระแสเงินทุนไหลเข้าเหล่านี้ที่ได้รับแรงผลักดันจากนโยบายผ่อนคลายการเงินอย่างมากในสหรัฐและยุโรป
แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 7% แต่จีนยังค่อนข้างจะเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามา เนื่องจากยังมีจำนวนสูงกว่าเม็ดเงินที่ไหลเข้าไปยังชาติตะวันตกและประเทศอื่นๆในแถบเอเชีย
ดังนั้น จึงจะเป็นการดีกว่าที่ภาคครัวเรือนและบริษัทของจีนจะลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ของต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรของสหรัฐด้วยเงินจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน
การทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลในเอเชียตะวันออก
หวงเชื่อว่า การทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลนั้นอาจจะเริ่มจากภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกก่อนนั้น ในทางกลับกัน จีนเองก็อยากที่จะใช้จ่ายเป็นเงินหยวนกับประเทศในเอเชียตะวันออก เนื่องจากจีนขาดดุลการค้าอย่างมากกับประเทศเหล่านี้ โดยประเทศในเอเชียตะวันออกเองก็เต็มใจที่จะถือครองเงินหยวนที่ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพ
นอกจากนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกจะได้รับประโยชน์จากการใช้เงินหยวนมากขึ้น เนื่องจากจีนเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายการแบ่งปันด้านการผลิตในเอเชียตะวันออก ผลิตภัณฑ์ต่างๆอย่างคอมพิวเตอร์และไอโฟนนั้น ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนและส่วนประกอบในประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออก ซึ่งมีการนำมาประกอบเป็นเครื่องในจีน และส่งออกไปยังชาติตะวันตก
หวงกล่าวว่า "หากเงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลภายในเอเชียตะวันออกแล้ว ผมคิดว่าการเรียนรู้เรื่องประโยชน์ของเงินหยวนจะเป็นหนทางที่ปลอดภัย คุณสามารถปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไหวอย่างเสรีมากขึ้น เพราะจริงๆแล้วในเอเชียตะวันออกก็มีตลาดเงินหยวนรายใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้น จะเป็นก้าวแรกที่ดีในการทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล"
หวงกล่าวว่า หากเศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวที่ระดับ 6-8% ต่อปีในช่วงระยะเวลาที่เหลือของทศวรรษนี้ จุดยืนด้านการคลังของจีนก็จะมีความแข็งแกร่งอย่างสมเหตุสมผล และสถานการณ์ด้านการเงินก็จะมั่นคง
หวงกล่าวว่า "ผมไม่เห็นความเสี่ยงมากนักในเรื่องการทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล "