นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองมองว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าลงนั้นสามารถนำไปสู่แนวทางปูทางการขยายตัวที่แข็งแกร่งขึ้นสำหรับจีน หากเศรษฐกิจนั้นเริ่มมีการพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนน้อยลงเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต แต่การที่จะเป็นเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องเร่งปฏิรูปทางเศรษฐกิจ
ทั้งสองให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขยายตัวมาเน้นการบริโภคแทนการลงทุนนั้น ยังอาจจะทำให้มีความผันผวนน้อยลงในวงจรทางธุรกิจ"
นายแวน อาร์ค และนายโพล์ค กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนที่มีอัตราการขยายตัวอย่างช้าๆ แต่มีกำลังซื้อมากขึ้น จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก
"ปัจจัยในปัจจุบันที่ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงนั้นไม่ใช่การปฏิรูป" พวกเขากล่าว โดยเสริมว่าเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวปานกลางนั้นเป็นผลกระทบตามธรรมชาติของการพัฒนา อันเนื่องมาจากปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ประชากร รวมทั้งผลพวงจากกระบวนการดำเนินงาน
พวกเขาเสนอว่า จีนควรเร่งเดินหน้าการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เร็วกว่านี้ และควรดำเนินงานในวงกว้างมากขึ้น เพื่อที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก อย่างจีน จะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากภาวการณ์ดังกล่าวได้รวดเร็วขึ้น
หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมความเสี่ยงทางการเงินเมื่อไม่นานมานี้ นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองเชื่อว่านี่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากของการปฏิรูป
อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้แสดงความวิตกต่อแผนขยายวงเงินเพื่อปล่อยกู้ของจีน ซึ่งยังไม่ได้เข้าไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง
พวกเขากล่าวว่า "หากต้องการลดความเสี่ยงด้านการเงินและสินเชื่อโดยพื้นฐานแล้ว การขยายตัวทางการเงินโดยรวมจำเป็นต้องชะลอลง มิฉะนั้น เม็ดเงินก็จะยังคงหลั่งไหลไปสู่ภาคการธนาคารเงาในที่สุด แม้ว่ามีการยับยั้งจากฝ่ายบริหารก็ตาม"
พวกเขาแย้งว่า การขยายตัวทางการเงินที่ชะลอลงจะฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม แต่ในทางกลับกันก็จะนำทางไปสู่แนวทางการขยายตัวที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก
จากรายงานเมื่อเร็วๆนี้ของเอชเอสบีซี ซึ่งระบุว่าคนงานอพยพในจีนจำนวน 260 ล้านคนที่ได้ตั้งรกรากตามเมืองต่างๆนั้นจะช่วยส่งเสริมการบริโภคและหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น นายแวน อาร์คและนายโพล์คจึงเชื่อว่าแรงงานจำนวนมหาศาลดังกล่าวจะช่วยหนุนอุปสงค์สำหรับตลาดโลก สำนักข่าวซินหัวรายงาน