รายงานระบุว่า ดัชนี MPI ของยูโรโซนได้ปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จากระดับ 50.5 ในเดือนก.ค.เป็น 51.7 ในเดือนส.ค. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 50.9 และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบมากกว่า 2 ปี
นายมาร์โก สตริงกา นักเศรษฐศาสตร์ในอังกฤษของดอยช์แบงก์กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า “ทุกฝ่ายควรใช้ความระมัดระวังเกี่ยวกับข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนส.ค.ของยุโรป เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาว แต่ถึงแม้ว่าตัวเลขของฝรั่งเศสจะออกมาน่าผิดหวัง แต่ทั้งยูโรโซนก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น"
ทั้งนี้ PMI ของฝรั่งเศสหดตัวลงอย่างรุนแรงจาก 49.1 มาอยู่ที่ 47.9 ในเดือนส.ค. และผลผลิตของฝรั่งเศสได้ปรับตัวลดลงในขณะที่ผลผลิตเยอรมนีและยูโรโซนปรับตัวขึ้น
นายสตริงการะบุว่า มีแนวโน้มที่ประเทศอื่นๆ เช่น อิตาลี สเปน และ ไอร์แลนด์ จะมีส่วนผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากภาคบริการ
นายสตริงกาอธิบายถึงโมเดลของเขาว่า ภาคการผลิตในอิตาลี สเปน และ ไอร์แลนด์ ก็มีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจขยายตัวด้วยเช่นกัน โดยสเปนและไอร์แลนด์ได้รับผลประโยชน์จากต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าและอุปสงค์จากภายนอกที่แข็งแกร่ง
แต่อย่างไรก็ดี นายสตริงกากล่าวว่า การปรับตัวที่ดีขึ้นอาจจะมาจากผลกระทบจากมาตรการรัดเข็มขัดที่ผ่อนคลายลงในบางประเทศ
“สิ่งที่สำคัญที่สุดที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงทางการคลัง และความพยายามด้านงบประมาณได้เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในฝรั่งเศสในปีนี้ แต่กำลังปรับตัวลงในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ตลาดภายในประเทศของเยอรมนียังคงมีภาวะที่ดีกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน" เขากล่าว
ด้านนายมาร์ติน ฟาน เวลียต ของไอเอ็นจีกล่าวว่า “ตัวเลขดัชนี PMI ซึ่งเปิดเผยครั้งล่าสุดนี้นับเป็นอีกหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ยูโรโซนได้ผ่านพ้นจากภาวะถดถอยเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น โอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะดำเนินการตามแผนที่ระบุไว้จึงลดลง"
“นอกจากนี้ การกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจมาจากฐานที่กว้างขึ้น ถึงแม้ว่าบางประเทศ ซึ่งรวมไปถึงฝรั่งเศสจะยังคงประสบกับความยากลำบาก และสำหรับในอนาคต เราคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้"
บทสัมภาษณ์โดย สำนักข่าวซินหัว