ประธาน WEF กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า อย่างไรก็ตาม จีนควรจะแทนที่วิธีการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษบกิจโดยใช้เงินทุนมหาศาล ด้วยวิธีการขับเคลื่อนที่อิงคุณภาพและเพิ่มพูนนวัตกรรม
ประธาน WEF กล่าวว่า "ผมเดินทางเยือนจีนครั้งแรกเมื่อปี 2522 ตามคำเชิญของสถาบันสังคมศาสตร์ของจีน และเดินทางกลับมาเยี่ยมเยียนจีนเป็นประจำทุกปี สิ่งที่ผมให้ความสนใจมากที่สุดเกี่ยวกับจีนก็คือการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่น่าเชื่อที่จีนได้ฝ่าฟันมา"
ประธาน WEF สานสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับจีนเมื่อปี 2550 ขณะที่เขาได้จัดการประชุม WEF ฤดูร้อนที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นการประชุมระดับสูงของบรรดาเหล่าผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมืองระดับโลก จีนรับหน้าที่จัดการประชุมดังกล่าวในเมืองท่าเรืออย่างเทียนจิน และต้าเหลียน
การประชุม WEF ในจีนประจำปีนี้ หรือที่รู้จักกันในนาม World Economic Forum Annual Meeting of the New Champions จะจัดขึ้นตั้งแต่วันพุธถึงวันศุกร์นี้ โดยมีผู้ร่วมงานจากทั่วโลกกว่า 1,600 คน ภายใต้ประเด็น "Meeting the Innovation Imperative"
ประธาน WEF กล่าวว่า "เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่แห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นยุคที่เราจำเป็นต้องสร้างคุณภาพชีวิต ไม่ใช่แค่การเพิ่มปริมาณผลผลิตเพียงอย่างเดียว การสร้างคุณภาพชีวิตถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆของเรา"
เขาระบุว่า จีน ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้เร่งเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคที่จีนควรทุ่มทุนในด้านการ "ปัจจัยการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต" เพื่อทำให้การพัฒนาทางสังคมที่ดีขึ้น และการพัฒนาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนเข้ามามีส่วนประกอบในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ และสร้าง "เศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีความแข็งแกร่ง และนวัตกรรมที่สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี"
"เราจำเป็นต้องผลักดันภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่จีนกำลังเผชิญอยู่เข้าสู่ทิศทางที่ดีขึ้น สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคทั้งหมดของจีนเป็นไปในทิศทางที่ดี ภาวะเงินเฟ้อลดลง การขาดดุลงบประมาณอยู่ในระดับปานกลาง และอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำสุดของโลก จีนถูกจัดอันดับในดัชนีความสามารถในการแข่งขันของประเทศอยู่ลำดับที่ 30 ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก"
อย่างไรก็ตาม ประธาน WEF กล่าวว่า จีนต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และการปฏิรูปโครงสร้างให้มากขึ้น เพื่อการเพิ่มผลผลิต และความรุ่งเรืองในระยะยาว
เขาระบุว่า "นวัตกรรมจะยิ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในด้านการขับเคลื่อนการปฏิรูป และจะเกิดขึ้นได้ผ่านการเติบโตที่ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วม"
ผู้นำคนใหม่ของจีนได้กำหนดวาระ และการปฏิรูปครั้งใหญ่ อาทิ การเปิดเสรีทางการตลาดซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ดี
จีนต้องการสร้างความเสมอภาคทางธุรกิจ, ทำให้ธุรกิจต่างๆดำเนินไปอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้มากขึ้น รวมถึงให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันทั้งในด้านความสามารถ และความพยายามของผู้ประกอบกิจการ
เขายังกล่าวถึง "ปรัชญาสำหรับผู้ถือผลประโยชน์ร่วม" ว่า "หลังจากวิกฤตการเงิน เราต้องทบทวนกระบวนการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ และระบบทั่วโลกใหม่อีกครั้ง"
"ความร่วมมือ และภาระหน้าที่ระดับโลกต้องเป็นไปตามกลยุทธ์มากกว่าเชิงปฏิสัมพันธ์ พร้อมกับให้ความสำคัญในด้านความต้องการระดับโลกเป็นสำคัญ และการสร้างสมดุล"
"เราต้องไม่ตอบสนองความต้องการของเราเพียงฝ่ายเดียว แต่เราควรตอบสนองความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราด้วย"
ประธาน WEF หวังว่า การประชุม WEF ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว จะเป็นเวทีแห่งการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันผ่าน "เครือข่ายการปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระดับนานาชาติ"
"เราสามารถค้นพบแนวคิด และแรงบันดาลใจใหม่ๆเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้โดยการนำบรรดาผู้นำจากภาครัฐ และเอกชนมารวมตัวกันในสังคมรุ่นใหม่ที่มีแรงขับเคลื่อน ณ การประชุม WEF เราสามารถเรียนรู้จากพวกเขาได้มากมาย"
ผู้ก่อตั้ง WEF ยังได้เรียกร้องให้เหล่าผู้นำระดับโลกที่เข้าร่วมการประชุมมีวิสัยทัศน์ที่ "กว้างไกล ตื่นตัว และอยู่เหนือการจัดการวิกฤตเศรษฐกิจ" เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของการประชุมครั้งนี้ที่ว่า "มุ่งมั่นพัฒนาสถานการณ์โลก"
ฮั่น โม, จา เหวินเย จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน