นายจอห์น ฟาร์เนลล์ ที่ปรึกษาอาวุโสประจำศูนย์ยุโรป-เอเชียในกรุงบรัสเซลส์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า รัฐบาลสหรัฐจำเป็นต้องเลือกว่าจะเข้ามามีบทบาทในการก่อตั้งธนาคารแห่งใหม่นี้หรือไม่
เขาชี้ว่า AIIB ควรมีการประสานงานกับสถาบันอื่นๆ ซึ่งอาจไม่เพียงพอในการบรรลุเป้าหมายทางการลงทุนที่จำเป็นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
นายฟาร์เนลล์ เสริมว่า AIIB ควรเป็นส่วนสนับสนุนสิ่งที่มีอยู่เดิม "นี่ไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ชนะและผู้แพ้ แต่เป็นเรื่องของการเดินหน้าร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน"
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยังกล่าวด้วยว่า การที่ชาติยุโรปหันไปเข้าร่วมการก่อตั้ง AIIB นั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า การขยายขอบเขตสถาบันการเงินระหว่างประเทศสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ แผนก่อตั้ง AIIB ของรัฐบาลจีนนับเป็นความพยายามเพื่อแผ่อิทธิพลของจีนบนเวทีโลก
นายฟาร์เนลล์ กล่าวว่า "อย่างไรก็ตาม จีนจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่า การก่อตั้ง AIIB ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อล้มล้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศที่ปรากฎให้เห็นอยู่แล้ว แต่เป็นการเปิดช่องทางเข้าถึงทรัพยากรเพิ่มเติม พร้อมเสนอโอกาสใหม่ๆสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ"
สำหรับแรงจูงใจของชาติยุโรปในการเข้าร่วม AIIB นั้น นายฟาร์เนลล์มองว่าเป็นการเข้าไปมีบทบาทในโครงการริเริ่มเชิงเศรษฐกิจก ที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาภูมิภาคเอเชียซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ในช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆในเอเชียกำลังมองหาทรัพยากรและปัจจัยกระตุ้นการขยายตัว
ทั้งนี้ กลุ่มชาติยุโรปที่ได้แสดงความต้องการที่จะเข้าร่วมการก่อตั้งธนาคาร AIIB นั้นยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ จากทั้งหมด 27 ประเทศที่เสนอตัวเป็นประเทศผู้ก่อตั้ง
การเสนอชื่อเป็นสมาชิกจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. โดยคาดว่าจะมีการก่อตั้ง AIIB อย่างเป็นทางการภายในสิ้นปี 2558
AIIB จะเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ให้เงินทุนสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย ด้วยเงินทุนเบื้องต้น 5 หมื่นล้านดอลลาร์