นายโมฮัมหมัด มารานดี คณบดีคณะการศึกษาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเตห์ราน กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า การคัดค้านข้อตกลงในระยะที่ 2 ดังกล่าวถือเป็นมติจากทางการเมืองของอิหร่าน เป็นไปไม่ได้ที่การเจรจาที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ จะได้มาซึ่งข้อตกลงที่ครบถ้วนแน่นอน และเป็นทางการ
ภายหลังจากที่ได้มีการลงนามในข้อตกลงที่ยังไม่พร้อมนี้ ก็จะไม่มีกลไกที่จะสร้างความมั่นใจว่า สหรัฐและประเทศพันธมิตรจะเจรจากับอิหร่านต่อไป เพื่อที่จะแก้ปัญหานิวเคลียร์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ อิหร่านเองก็มีบทเรียนมาแล้วจากการเจรจาต่อรองกับปาเลสไตน์และอิสราเอลเรื่องข้อตกลงแบบครึ่งๆกลางๆที่ไม่สามารถนำมาซึ่งสันติภาพและทางออกได้
สหรัฐได้พยายามเร่งอิหร่านให้ลงนามในข้อตกลงกรอบการดำเนินการด้านการเมืองภายในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.นี้ ก่อนหน้าที่จะมีการลงนามข้อตกลงขั้นสุดท้ายในช่วงวันที่ 30 มิ.ย. โดยนักการเมืองสหรัฐบางส่วนได้ผลักดันให้มีการประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม หากไม่สามารถตกลงและสรุปเรื่องข้อตกลงเรื่องกรอบการดำเนินการได้
นายอาลี คาไมนี ผู้นำสูงสุดอิหร่านกล่าวเตือนก่อนหน้านี้ว่า หากอิหร่านลงนามในข้อตกลงกรอบการดำเนินการ สหรัฐและประเทศพันธมิตรก็จะใช้การเจรจาเป็นหมากต่อรองกับประเทศอิสลามประเทศอื่นๆในอนาคต
ทางด้านนายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอิหร่านและผู้นำการเจรจานิวเคลียร์ของอิหร่าน กล่าวในรูปแบบเดียวกันกับนายคาไมนีว่า ไม่มีทางแก้ปัญหาใดๆจะเกิดขึ้นได้ จนกว่าทุกสิ่งจะได้รับการแก้ปัญหาแล้ว
นายมารานดี กล่าวว่า การที่จะทำให้การเจรจาประสบความสำเร็จนั้น ชาติตะวันตกจะต้องดำเนินการ 2 ประการ คือ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และยอมรับสิทธิด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน อิหร่านอาจจะชะลอโครงการนิวเคลียร์ของประเทศออกไปอีก 2-3 ปี เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยในระยะยาวนั้น อิหร่านจะต้องไม่ยอมยกเลิกสิทธิตามกฎหมายใดๆ รวมทั้งโครงการนิวเคลียร์ของประเทศจะต้องกลับมาอยู่ในสภาพปกติ
สำนักข่าวฟาร์ส นิวส์ เอเจนซี รายงานโดยอ้างคำพูดของผู้แทนเจรจาอาวุโสของอิหร่านว่า อิหร่านอาจจะชะลอโครงการนิวเคลียร์ออกไปประมาณ 2-3 ปี ในขณะที่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะยังคงเป็นประเด็นสำคัญของการเจรจา
นายมาราดี ยังได้ปฏิเสธกระแสคาดการณ์ที่ว่า การเจรจาเรื่องนี้มีการแลกเปลี่ยนกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาค เนื่องจากอิทธิพลของอิหร่านกำลังขยายตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในประเทศที่เผชิญกับสถานการณ์ขั้นวิกฤต อาทิ เยเมน อิรัก และซีเรีย
อิหร่านไม่ได้ต้องการที่จะนำเรื่องภายในภูมิภาคเข้ามาหารือในการเจรจา เนื่องจากเรื่องดังกล่าวจะส่งผลให้สถานการณ์มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมหาอำนาจของตะวันตก
อย่างไรก็ดี ความหวังเรื่องข้อตกลงครั้งนี้มีอยู่สูงในกลุ่มชาวอิหร่านที่มองว่า การมีส่วนร่วมของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และสหรัฐนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีของข้อตกลงและการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในที่สุด
หากสหรัฐมีเจตนาทางการเมืองที่จะแก้ปัญหา ก็ต้องเคารพในสิทธิของอิหร่านด้วย ดังนั้น ทางแก้ปัญหาจึงจะเกิดขึ้นตาม บางทีข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเข้าร่วมการเจรจาต่อรองก็เพราะต้องการดูว่า สหรัฐจะตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญๆในขั้นตอนนี้หรือไม่ นายมารานดีกล่าว
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2556 ประเทศมหาอำนาจและอิหร่านได้บรรลุข้อตกลงขั้นแรกเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ต่อมาแผนการร่วมเจนีวา 2013 ก็เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้อิหร่านระงับกิจกรรมด้านนิวเคลียร์บางรายการ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรในวงจำกัด ซึ่งถือเป็นการซื้อเวลาเพื่อให้ปฏิบัติการทางการทูตประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา
นับตั้งแต่นั้นมา ประเทศต่างๆและอิหร่านก็ไม่สามารถดำเนินการตามขีดเส้นตายถึง 2 ครั้ง ทั้งในการเจรจาเมื่อเดือนมิ.ย.และพ.ย.ปีที่แล้ว และคณะผู้แทนเจรจาต่อรองก็ได้กำหนดให้วันที่ 31 มี.ค. เป็นขีดเส้นตายใหม่ของการสรุปข้อตกลงกรอบการทำงานทางการเมือง และกำหนดให้วันที่ 30 มิ.ย.เป็นข้อตกลงในขั้นสุดท้าย
บทสัมภาษณ์โดย หยาง ติงตู และฟู ฮัง จากสำนักข่าวซินหัว