โจเซฟ สติกลิทซ์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐกิจ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "การปรับโครงสร้างหนี้ยังไม่เพียงพอ การแก้ปัญหาหนี้สินของกรีซอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องใช้มาตรการที่สร้างสรร"
นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2544 ผู้นี้ ได้ออกมาวิจารณ์อย่างเข้มข้นถึงมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินกรีซ ซึ่งได้แก่มาตรการรัดเข็มขัดที่เสนอโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตลอดจน "ความไม่สามัคคีของสมาชิกยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี"
สติกลิทซ์เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวนอกรอบการประชุม Symi Symposium ครั้งที่ 16 ซึ่งจัดขึ้นโดย Andreas Papandreou Foundation ที่เกาะคอร์ฟู ว่า เขามองไม่เห็นอนาคตสดใส "ตราบใดที่เยอรมนียังคงยืนกรานที่จะใช้นโยบายซึ่งเห็นชัดอยู่แล้วว่าล้มเหลว"
ในขณะที่เยอรมนีมีแนวโน้มว่าจะเปิดกว้างต่อการปรับโครงสร้างหนี้นั้น สติกลิทซ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ Columbia University กลับเตือนว่า การปรับโครงสร้างหนี้ยังไม่ดีพอที่จะแก้ไขวิกฤตหนี้กรีซได้
เขากล่าวว่า "การปรับโครงสร้างหนี้สินอย่างเต็มรูปแบบนั้นมีความจำเป็น ซึ่งแทบจะขาดไม่ได้ แต่การปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียวอาจไม่พอ หากคุณปรับโครงสรางหนี้ แต่คุณยังคงเดินหน้าใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดมากเกินไป เศรษฐกิจในประเทศของคุณก็ยังคงถดถอย"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไรกัน สติกลิทซ์กล่าวว่า อาจไม่ง่ายหนัก แต่การจะแก้ไขปัญหาหนี้สินของกรีซได้นั้น ต้องใช้มาตรการที่สร้างสรร จึงจะสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้
ศาสตราจารย์สติกลิทซ์ ได้อ้างถึงกรณีของอาร์เจนตินา และยกตัวอย่างถึงการใช้พันธบัตร GDP-linked bond หรือพันธบัตรรัฐบาลชนิดหนึ่งที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในแต่ละปีโดยอ้างอิงกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนั้นๆ
เขากล่าวว่า "การใช้พันธบัตร GDP-linked bond เป็นตัวเลือกที่ดี เนื่องจากเป็นวิธีที่จะเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้
ทั้งนี้ สติกลิทซ์เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลกรีซมานับตั้งแต่ช่วงเริ่มเกิดวิกฤต และเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เขาได้ร่วมหารือกับนายอเล็กซิส ซิปราส นายกรัฐมนตรีกรีซ และรัฐมนตรีคลังกรีซ รวมทั้งได้เสนอแนวทางช่วยเหลือกรีซเท่าที่เป็นไปได้
บทสัมภาษณ์โดย Maria Spiliopoulou จากสำนักข่าวซินหัว