ลาร์รี ซิมเพิลแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของพรินซิพอล ไฟแนนเชียล กรุ๊ป กล่าวว่า ความผันผวนเมื่อเร็วๆนี้ของตลาดหุ้นจีนและการอ่อนค่าของค่าเงินหยวน ถือเป็นเรื่องปกติในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในจีน
นายซิมเพิลแมนให้สัมภาษณ์กับซินหัวว่า เขายังคงเชื่อมั่นในเศรษฐกิจจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนได้ใช้ความพยายามมาอย่างยาวนานในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ
เขามองว่า ในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนได้พึ่งภาคการผลิตที่ต้นทุนต่ำและการส่งออก ซึ่งช่วยยกระดับชาวจีนจำนวนหลายล้านสู่ชนชั้นกลาง เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้น
"แต่มีความชัดเจนว่า ณ จุดหนึ่งว่า จีนไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่มีต้นทุนต่ำสำหรับภาคการผลิต ประเทศอื่นๆกำลังจะเริ่มมีลักษณะเช่นนั้นด้วย"
เขากล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจที่ได้รับการผลักดันจากรัฐบาลจีน จะเปลี่ยนโฉมจีนจากเศรษฐกิจที่การส่งออกผลักดันการผลิตไปสู่เศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ การออมและการลงทุน
"นี่เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ยากลำบาก ผลพวงจากการดำเนินการดังกล่าวก็คือความผันผวน และการเปลี่ยนผ่านนี้ไม่สามารถทำได้อย่างราบรื่น โดยจะมีความผันผวนเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นเราจึงไม่ควรจะประหลาดใจ หากเกิดภาวะดังกล่าว" เขากล่าว
ตลาดหุ้นจีนร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันจันทร์และอังคารที่ผ่านมา โดยแตะที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2557 และเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตร่วงต่ำกว่าระดับ 3,000 จุด
ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรของจีนบ่งชี้ว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนลดลง 6% ในไตรมาสแรกของปีนี้ แตะที่ 5.54 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 8.642 แสนล้านดอลลาร์) โดยดการส่งออกเพิ่มขึ้น 4.9% ขณะที่การนำเข้าหดตัวลง 17.3%
การขยายตัวของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นมาตรวัดมูลค่าขั้นสุดท้ายของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมนั้น มีความผันผวนเช่นเดียวกัน โดยอัตราการขยายตัวต่อปีลดลงมาอยู่ที่ 5.6% ในเดือนมี.ค.และปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาแตะที่ระดับ 6.8% ในเดือนม.ย.และลดลงสู่ 6% ในเดือนก.ค.
นายซิมเพิลแมนกล่าวว่า แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่ก็เป็นสิ่งเหมาะสมที่จะทำ และเป็นการปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสมของเศรษฐกิจ เนื่องจากจะช่วยให้การพัฒนาของจีนมีความยั่งยืนมากขึ้น และพึ่งพาตลาดภายในประเทศมากขึ้น แทนตลาดต่างประเทศ
"จีนจะประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในท้ายที่สุด" เขาระบุ พร้อมกับเสริมว่า จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอีก 20-30 ปีและมีรูปแบบทางเศรษฐกิจที่คล้ายกับเยอรมนี ฝรั่งเศส สหรัฐ และประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ
สำหรับความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการแทรกแซงตลาดหุ้นของรัฐบาลจีนและการปรับตัวลดลงของเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ นายซิมเพิลแมนระบุว่า การเข้าแทรกแซงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติของรัฐบาลและมีความสมเหตุสมผล เนื่องจากรัฐบาลมีบทบาทในการส่งเสริมเศรษฐกิจและบริหารจัดการตลาดทุน ตลอดจนอัตราแลกเปลี่ยน
ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่สิ้นปีที่แล้ว และแตะระดับสูงสุดที่ 5,166.35 จุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. หลังจากนั้นดัชนีตลาดหุ้นได้เริ่มปรับตัวลง ขณะที่รัฐบาลจีนได้ใช้หลายมาตรการเพื่อสกัดความตื่นตระหนก ซึ่งรวมถึงการจำกัดจำนวนหุ้นออกใหม่เพื่อไม่ให้มีจำนวนหุ้นสูงเกินไป การปราบปรามการทำชอร์ตเซล และการสั่งห้ามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ขายหุ้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน
"รัฐบาลสหรัฐได้เข้าแทรกแซงตลาดทุนผ่านทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา" นายซิมเพิลแมนกล่าวและเสริมว่า "ธนาคารกลางยุโรปก็ทำในแบบเดียวกัน"
นายซิมเพิลแมนกล่าวว่า "รัฐบาลของทุกประเทศจับตาความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศของตน และในความเป็นจริง หากมีการปรับตัวนอกกรอบที่มีความเหมาะสม ก็จะมีการเข้ามาบริหารจัดการ" โดยระบุถึงการอ่อนค่าของเงินหยวนเมื่อเทียบดอลลาร์เมื่อไม่นานมานี้
"ณ จุดนี้ ผมพูดได้ว่า ผมมองไม่เห็นอะไรที่ทำให้ต้องกังวล" เขากล่าว เนื่องจากการดำเนินการของธนาคารกลางจีนก็เหมือนกับการเติมลมยางรถยนต์ เพราะยางแบนเล็กน้อย
นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ปกติมากที่กองทุนบำนาญจะนำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเขาระบุถึงการหารือเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นจีนของกองทุนบำนาญเมื่อไม่นานมานี้
"ผมอยากจะเสริมว่า ระบบการเกษียณอายุมีส่วนช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนได้มากขึ้น เนื่องจากจะช่วยให้ตลาดมีแหล่งเงินทุนระยะยาวที่มีเสถียรภาพมากขึ้น" นายซิมเพิลแมนกล่าว