นางฟิรูเซห์ นาฮาวานดี ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Free University of Brussels (ULB) เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า เหตุก่อการร้ายในกรุงบรัสเซลส์อาจสร้างความเสียหายรุนแรงมากกว่านี้ หากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น รัฐบาลเบลเยียมไม่ใช้มาตรการต่อต้านการก่อการร้าย
นางนาฮาวานดีซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาการก่อการร้ายและญิฮาด กล่าวว่า "เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มี.ค.นั้น พอจะคาดเดาได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้าย เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการจับกุมตัวนายซาเลห์ อับเดสลาม"
นอกจากนี้ นางนาฮาวานดีมองว่า คงไม่ถูกต้องนัก หากจะกล่าวว่ามาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของเบลเยี่ยมไม่ได้ผล
"มีการจับกุม การพิพากษาลงโทษ และการยับยั้งการโจมตีหลายครั้ง" ศาสตราจารย์กล่าว "จริงอยู่ที่รัฐบาลเบลเยียมมีความรอบคอบในการใช้ยุทธศาสตร์ แต่หากปราศจากมาตรการเหล่านี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงกว่านี้ และอาจมีการก่อการร้ายมากกว่านี้เช่นกัน"
นางนาฮาวานดีกล่าวว่า "การจับกุมตัวอับเดสลามและการติดตามหาตัวนั้น แสดงให้เห็นว่ากำลังมีบางอย่างเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ว่าการโจมตีในครั้งนี้อาจมีการเตรียมการมาเป็นเวลานานแล้ว ปฏิบัติการเหล่านี้ไม่อาจประสานงานกันได้ในเวลาไม่กี่วัน เป็นไปได้ว่าการจับตัวนายอับเดสลามเป็นตัวเร่งให้หลายสิ่งเกิดขึ้น"
ส่วนมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย "ต้องดำเนินการและประสานงานกันทั่วโลกเท่านั้น" จึงจะประสบความสำเร็จ
"จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเฝ้าระวังผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ต้องมีการดำเนินการในประเด็นอัตลักษณ์และเงื่อนไขการควบคุมตัวผู้กระทำผิด เนื่องจากอาชญากรจำนวนมากมีพฤติกรรมหัวรุนแรงในคุก เราต้องมีนโยบายระดับนานาชาติที่สอดคล้องกันมากขึ้น และมีพันธมิตรที่ถูกเลือกมาเป็นอย่างดี"
อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้นี้ได้กล่าวเสริมว่า "ความร่วมมือกันของหน่วยข่าวกรองและความมั่นคงของยุโรป ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จำเป็น ถึงกระนั้น แต่ละประเทศก็ต้องตระหนักถึงการก่อการร้ายในระดับชาติด้วย"
"ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกันหมดนั้น ความเสี่ยงย่อมต้องมีอยู่ แรงจูงใจและกลยุทธ์ของผู้ก่อการร้ายย่อมผันแปรไปตามสถานการณ์และไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับอันตรายรอบด้าน" นางนาฮาวานดีกล่าว