เบลเยียมและสหภาพยุโรป (EU) จะปรับปรุงสถานการณ์ด้านความมั่นคงและปลอดภัยได้อย่างไร หลังเกิดเหตุวางระเบิดในกรุงบรัสเซลส์ หนึ่งในเมืองหลวงของกลุ่ม EU ที่ได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัสจากก่อการร้ายที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์เบลเยียม
แดเนียล คีโอฮาน นักวิจัยอาวุโสประจำ ETH Zurich ศูนย์การเรียนรู้ด้านความมั่นคง กล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การบริการและการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองที่ดีขึ้น การบูรณาการทางสังคมที่ดีขึ้นสำหรับชนกลุ่มน้อยอันโดดเดี่ยว และการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศเหล่านี้ อาจจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวไได้
เหตุระเบิดที่สนามบินบรัสเซลส์และสถานีรถไฟใต้ดินมาลบีคในเมืองบรัสเซลส์ช่วงเวลาเร่งด่วนของวันอังคารที่แล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 รายและบาดเจ็บประมาณ 300 ราย ซึ่งกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบ
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 4 วันหลังจากที่ตำรวจเบลเยียมจับกุมตัวนายซาลาห์ อับเดสลาม ในละแวกบ้านของเขาในย่านโมเลนบีค พื้นที่ชั้นในของบรัสเซลส์ หลังจากที่ตำรวจได้ใช้เวลาในการไล่ล่ามานานถึง 4 เดือน ชายคนดังกล่าวเป็นผู้ต้องสงสัยหลักที่ก่อเหตุวางระเบิดกลางกรุงปารีสเมื่อเดือนพ.ย. 2558
นายคีโอฮาน ระบุว่า ทางการต้องพยายามอย่างเร่งด่วนเพื่อพัฒนาระบบการบริหารและแบ่งปันข้อมูลและข่าวกรองที่มีอยู่ในเบลเยียมและสหภาพยุโรปทั้งหมด และต้องรับมือกับการก่อการร้ายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
พร้อมกล่าวเสริมว่า ปัจจัยดังกล่าวสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหนทางเดียวที่จะสามารถขัดขวางกลุ่มก่อการร้ายได้อย่างแท้จริงคือการสืบหาข่าวกรอง
"ปัจจุบันนี้ แต่ละประเทศก็มีแนวทางที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญ หน่วยงานต่างๆก็รับผิดชอบการต่อต้านการก่อการร้ายในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในเบลเยียม และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ตัวอย่างในยุโรป"
นอกจากนี้ นายคีโอฮาน กล่าวว่า ประเทศในกลุ่ม EU ต้องรับมือกับคำถามสำคัญเกี่ยวกับการบูรณาการทางสังคมของชนกลุ่มน้อยที่ถูกโดดเดี่ยวให้ดีขึ้น
พร้อมระบุว่า จากประวัติศาสตร์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศยุโรปตะวันตก อันได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สเปน และเยอรมัน ได้รับผลกระทบจากก่อการร้ายได้ง่ายกว่า เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากกว่ายุโรปตะวันออก
นายคีโอฮาน กล่าวว่า ขณะนี้ อียูกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง
"แต่ละประเทศก็มีวิกฤตที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นพร้อมกันในกลุ่มอียู และทำให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงนั้นค่อนข้างยากลำบาก" นายคีโอฮานเผย
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงยังกล่าวอีกว่า กลุ่มอียูต้องพิจารณาถึงนโยบายต่างประเทศใหม่อีกครั้ง ตัวอย่างเช่น ควรเดินหน้าระเบิดกลุ่มไอเอสในอิรักต่อไปหรือไม่
"เหล่านี้คือคำถามสำคัญ" เขากล่าว
ฉวย หรง, จาง หยุนหลง จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน