นักเศรษศาสตร์ชาวออสเตรเลียให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ปัญหาพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น คือ จำนวนแรงงานที่ลดลง
นายโจเซป คาร์เปอร์โซ นักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของธนาคารคอมมอนเวลท์แห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า “เป็นเรื่องยากที่เศรษฐกิจจะเติบโตในภาวะที่แรงงานลดลง"
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนพ.ค.ซึ่งจัดทำโดยมาร์กิต ร่วงลงจากระดับเดือนม.ค.อย่างรวดเร็วสู่ระดับ 47.7% โดยที่ดัชนี PMI ยังคงอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งหดตัวมาตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา
โจเซป มองว่า ภาคการผลิตที่อ่อนตัวลงนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ เนื่องจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นออกมาจับจ่ายใช้สอยน้อยลงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว
ถึงแม้ว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) นั้น เพิ่มขึ้น 0.5% ในไตรมาสที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากการอนุมัติเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อที่จะฉุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้พ้นจากภาวะถดถอย แต่ก็ไม่สามารถชดเชย GDP ที่ร่วงลงถึง 0.8% เมื่อธ.ค.ปีที่แล้วได้
ที่ผ่านมา เศรษฐกิจญี่ปุ่นพึ่งพาภาคการผลิตสินค้าไฮเอนด์เป็นหลัก เช่น การผลิตรถยนต์ หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับฐานผู้บริโภคของญี่ปุ่น แต่เมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโต บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งก็หันมาสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในต่างประเทศ เช่น ในไทยและเวียดนาม
“กระแสการจัดตั้งโรงงานในต่างประเทศเกิดขึ้นกับบริษัททั่วโลก ไม่เฉพาะแต่บริษัทญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นเป็นผู้นำในเรื่องดังกล่าว" นายคาร์เปอร์โซกล่าว
ญี่ปุ่นถูกกดดันมากยิ่งขึ้นเมื่อผู้ผลิตจากทวีปเอเชีย อย่างเช่น จีน และ เกาหลีใต้ต่างเพิ่มการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น ในที่ขณะจีนและเกาหลีใต้ได้รับส่วนแบ่งตลาดซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราที่เอื้ออำนวย สวนทางกับเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น
สภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติของออสเตรเลีย (FCAI) เปิดเผยว่า สถิติการนำเข้ารถจากญี่ปุ่นในออสเตรเลียจนถึงเดือนพ.ค.ในปีนี้ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปี 2558 ในขณะที่สถิติการนำเข้าจากเกาหลีใช้และไทยใต้เพิ่มสูงขึ้น 18.1% และ 12.78% ตามลำดับ
การผลิตในไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็สเกิดขึ้นจากรถยนต์พาณิชย์ขนาดเล็กที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อป้อนให้กับบริษัทญี่ปุ่น ด้านผู้ผลิตสัญชาติเกาหลีใต้เองก็สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น
ญี่ปุ่นควรเปลี่ยนจากการขยายภาคผลิตมาเป็นการขยายภาคบริการให้สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุในประเทศ แทนที่จะให้ความสำคัญกับอุตสาหรรมที่ตกทอดมาจากรุ่นก่อนซึ่งขณะนี้ถูกประเทศอื่นแซงหน้าไปแล้ว
“หากประเทศอื่นๆพัฒนาภาคการผลิตให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นเรื่องดีรึเปล่าที่ญี่ปุ่นยังคงยึดติดกับความได้เปรียบที่ลดน้อยถอยลง ซึ่งญี่ปุ่นอาจต้องเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับภาคบริการแทนภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า" นายคาร์เปอร์โซกล่าว
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมบริการต้องอาศัยทุนมนุษย์เป็นอย่างมาก ซึ่งนับเป็นปัญหาหลักสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น สำนักข่าวซินหัวรายงาน