ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อูเบอร์ ไชน่า ถือเป็นตัวอย่างของธุรกิจต่างชาติที่ประสบความยากลำบากในการเจาะตลาดจีน และยอมจำนนด้วยการขายกิจการให้กับเจ้าตลาดสัญชาติจีนไปในที่สุด
เมื่อเร็วๆนี้ ตีตี ชูสิง ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเรียกใช้พาหนะตามสั่ง (ODM) เบอร์หนึ่งของจีน ประกาศข้อตกลงซื้อกิจการอูเบอร์ ไช่น่า คู่แข่งในจีนซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งของโลก
ส่วนแบ่งตลาดของของอูเบอร์ ไชน่าในจีน เป็นรองตีตี ชูสิงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอูเบอร์ ไชน่า ครองส่วนแบ่งตลาด 17% ในขณะที่ตีตี ชูสิงครองส่วนแบ่งตลาดถึง 70% การยอมขายกิจการให้กับตีตี ชูสิงในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า อูเบอร์ถอดใจที่จะสู้ต่อ ถึงแม้จะลงทุนในตลาดจีนสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
อูเบอร์ ไชน่า ไม่ใช่บริษัทชาติตะวันตกรายแรกที่เจอปัญหานี้ เพราะก่อนหน้านี้อีเบย์ ยาฮู รวมถึงวอทส์แอพ ต่างก็เผชิญศึกหนักในการทำตลาดที่จีน
สำหรับสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังความล้มเหลวของบริษัทชาติต่างตะวันตก โรเบิร์ต ซาโลมอน รองศาสตราจารย์แห่งนิวยอร์ก ยูนิเวอร์ซิตี สะเทิร์น สคูล ออฟ บิสิเนส ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่ชาวจีนต้องการนั้นแตกต่างกันกับผู้บริโภคตะวันตก โดยหยิบยกในเรื่องของรสนิยมทางวัฒนธรรม และวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ในแนวทางที่ต่างกัน
โรเบิร์ต ซาโลมอน ระบุว่า อูเบอร์นิยมเป็นพันธมิตรกับผู้ขับรถยนต์ส่วนตัว ในขณะที่ชาวจีนส่วนใหญ่ไว้วางใจแท็กซี่มากกว่า ซึ่งทางตีตี ชูสิง ทำตลาดประเดิมด้วยการเป็นพันธมิตรกับเครือข่ายแท็กซี่
นอกจากนี้ ตีตี ชูสิง ยังตีตลาดผู้ชอบกินดื่ม ด้วยการโฆษณาในร้านอาหารหลายแห่ง งัดกลยุทธ์ให้บริการคนขับรถแบบเจาะจงพาผู้ใช้บริการเดินทางกลับบ้านหลังเสร็จจากร้านอาหาร บริการดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวจีน
"ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ กฎระเบียบ อีกทั้งความแตกต่างด้านกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ ยากที่จะประสบความสำเร็จในตลาดจีน" ซาโลมอนกล่าว
นกเหนือจากตีตี ชูสิงแล้ว ยังมีตัวอย่างความสำเร็จได้แก่ วีแชท ซึ่งเป็นแอพแชทที่ใช้งานอย่างแพร่หลายในจีน แอพสัญชาติจีนนี้ยังเปิดให้ผู้ใช้สามารถแชร์และอ่านเรื่องราวต่างๆได้ ตลอดจนจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ โอนเงิน และอื่นๆอีกมากมาย
"ผมคิดว่าคู่แข่งชาวจีนมาถึงจุดที่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ การเจอกับคู่แข่งต่างชาติที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าจะเปิดทางหรือบีบให้บริษัทจีนปรับปรุงให้ดีขึ้น" คุณซาโลมอนกล่าว
ขณะที่หลี่ ซานฉวน ผู้จัดการพอร์ตลงทุนของออพเพนไฮเมอร์ ฟันด์สในนิวยอร์ก ระบุว่า "นวัตกรรมไม่จำเป็นจะต้องเกิดจากการเริ่มต้นใหม่เสมอไป แต่เกิดจากการปรับปรุงให้ดีขึ้นและสร้างความแปลกใหม่ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความเหมาะสมกับตลาด"