Xinhua's Interview: นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ยุคเงินฝืดในระบบศก.โลกใกล้สิ้นสุดแล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 14, 2016 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิม โอนีล นักเศรษฐศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลก ได้กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว โดยวิเคราะห์ว่า ยุคของแรงกดดันที่เกิดจากภาวะเงินฝืดในระบบเศรษฐกิจโลกนั้น ได้ดำเนินมาถึงจุดที่ใกล้จะสิ้นสุดแล้ว

นายโอนีล อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ คือผู้ที่คิดค้นอักษรย่อ BRIC เพื่อใช้เรียกขานกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่อันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน โดยที่เขายังเคยระบุไว้ในช่วงต้นศตวรรษที่ผ่านมาว่า กลุ่ม BRIC จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญในอนาคต ก่อนที่กลุ่มดังกล่าวจะเพิ่มแอฟริกาใต้เข้ามาในภายหลัง

ทั้งนี้ โอนีลมองว่า ปัจจุบันมีอยู่ 3 หรือ 4 ปัจจัยรวมกันซึ่งบ่งชี้ว่า เราอาจมาถึงจุดสิ้นสุดของภาวะเงินเฟ้อต่ำแล้ว โดยปัจจัยแรกมาจากกระแสการเมืองแนวประชานิยมที่กำลังมาแรงในหลายประเทศ ซึ่งผลักดันให้ผู้นำของพรรคการเมืองเหล่านี้ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ โดยผู้นำเหล่านี้อาจออกมาตรการที่ช่วยส่งเสริมการปรับเพิ่มเพดานค่าตอบแทนสำหรับแรงงานในบางภาคส่วน ส่วนปัจจัยต่อมาคือการที่หลายประเทศมีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลของหลายประเทศยังมุ่งเน้นไปที่การใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และปัจจัยสุดท้ายคือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น

สำหรับสหรัฐนั้น โอนีลมองว่า การที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เพิ่มความหวังให้แก่ชนชั้นแรงงานในประเทศ โดยที่พวกเขาต่างคาดหวังว่าจะได้รับค่าแรงในอัตราที่สูงกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากนี้ โอนีลยังระบุว่า "การยอมรับมาตรวัดแบบดั้งเดิม เช่น สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) นั้น ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงนัก และไม่จริงด้วยที่ระบุว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ในอังกฤษมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น"

โอนีลอธิบายว่า "เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อนจะพบว่า ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในอังกฤษอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำกว่า เนื่องจากผู้มีรายได้สูงได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าผู้มีรายได้ต่ำ ดังนั้นความเหลื่อมล้ำจึงลดน้อยลง อย่างไรก็ดี ผู้คนจำนวนมากได้มองข้ามจุดนี้หรือปฏิเสธที่จะยอมรับมัน"

เขากล่าวเสริมว่า ปัจจัยด้านรายได้ไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่สร้างพลังสามัคคีให้กับกลุ่มโปร Brexit หรือผู้สนับสนุนทรัมป์ในสหรัฐ แต่เป็นเพราะปัจจัยอื่นๆที่มาประกอบกัน

โอนีลระบุว่า "หากคุณพิจารณาลงลึกถึงปัจจัยที่ตัดสินผลการลงประชามติ Brexit จะพบว่า คือกลุ่มประชากรที่มีอายุมากและประชากรผิวสี ไม่ใช่ช่องว่างทางรายได้"

ทั้งนี้ โอนีลคาดหวังว่า สถานการณ์ทางการเมืองทั่วโลกในปัจจุบันจะเอื้อต่อการเกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยให้เหตุผลว่า แนวโน้มที่ผู้กำหนดนโยบายในประเทศต่างๆจะออกมาตรการเพื่อขยายฐานรายได้ของแรงงานนั้น มีเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่า นี่คือความท้าทายสำหรับทรัมป์ในการดำเนินการให้ลุล่วง "โดยประชาชนจำนวนมากในรัฐโอไฮโอและเพนซิลเวเนียต่างปักใจเชื่อว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะช่วยสร้างโรงงานผลิตเหล็กแห่งใหม่เพิ่มอีกหลายแห่ง ซึ่งนั่นเป็นบททดสอบที่น่าสนใจสำหรับเขา"

ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายการคลังของประเทศต่างๆ

"ถึงแม้หนี้สาธารณะจะยังอยู่ในระดับที่สูง แต่ตอนนี้เรากำลังให้ความสนใจไปที่การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเครื่องมือทางการคลังในหลายประเทศ และสำหรับผมแล้ว ดูเหมือนว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ดีดตัวสู่ทิศทางขาขึ้นแล้วเช่นกัน"

โอนีลกล่าวทิ้งท้ายว่า "หากคุณนำปัจจัยต่างๆข้างต้นมารวมกัน จะเห็นว่า แรงกดดันของเงินฝืดในระบบเศรษฐกิจโลกนั้นได้คลี่คลายลงจนใกล้จะหมดสิ้นแล้ว"

บทสัมภาษณ์โดย ปีเตอร์ บาร์เกอร์ และ กุ้ย เทา / สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ