สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียได้เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อประจำไตรมาสที่ 4 วันนี้ โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อขยายตัวขึ้นต่ำกว่าที่ธนาคารกลางออสเตรเลียได้คาดการณ์ไว้
นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้น 0.7% ในไตรมาสสุดท้าย อย่างไรก็ดี ดัชนีราคาผู้บริโภคเปิดเผยในวันนี้อยู่ที่ 0.5% นับเป็นการตอกย้ำความวิตกของผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่ง
นายพอล เดลส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน Capital Economics เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า "ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงอ่อนแอ ซึ่งมักจะเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น"
"เศรษฐกิจออสเตรเลียเติบโตขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าศักยภาพจริงซึ่งอยู่ที่ 1.275% ในระยะเวลา 6 ปี ตลอดช่วงเวลาทั้งหมด 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่า มีประชาชนที่ต้องการทำงานมากกว่าจำนวนงานที่มีให้ทำ กล่าวคือ บรรดาบริษัทต่างๆ ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่มี หรือบรรดาโรงงานต่างๆ ไม่ได้ใช้เครื่องจักรทุกเครื่องที่มีอยู่"
"นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของรายได้ต่อครัวเรือนยังขยายตัวขึ้นในอัตราต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 1.9% ซึ่งหมายความว่า บรรดาภาคธุรกิจจะไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ เนื่องจากประชาชนจะไม่มีกำลังซื้อ สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของเศรษฐกิจประเทศที่อ่อนแอส่งผลให้ประเทศมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ"
นายคริส เวสตัน นักกลยุทธ์การตลาดจาก IG เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า ปัจจัยดังกล่าวนับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับธนาคารกลางออสเตรเลีย
"ทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล้วนออกมาต่ำกว่าที่ธนาคารกลางออสเตรเลียตั้งเป้าไว้ ซึ่งที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ธนาคารมีรายได้น้อยลง"
ธนาคารกลางออสเตรเลียกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% โดยธนาคารจะต้องรับมือกับโจทย์ที่ว่า ธนาคารจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ
นายเวสตันกล่าวอีกว่า "การลดอัตราดอกเบี้ยคงไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวขึ้นไปจากเดิม อีกทั้งคงไม่สามารถกระตุ้นแรงซื้อบ้านได้ เนื่องจากราคาบ้านยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าจะซื้อได้ ดังนั้น ธนาคารกลางออสเตรเลียคงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้มากนัก"
เลวี พาร์สันส์ สำนักข่าวซินหัวรายงาน