ผู้เชี่ยวชาญเผยสายตาทุกคู่ได้จับจ้องไปที่การประชุมซัมมิตของกลุ่ม G20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่นในวันนี้และวันพรุ่งนี้ ขณะที่บรรดาผู้สังเกตการณ์ต่างมองหาทางออกสำหรับความท้าทายต่าง ๆนานาที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญอยู่
ศาสตราจารย์สวาแรน ซิงห์ แห่งโรงเรียนศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยชวาหะร์ลาล เนห์รู ในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า "ในศตวรรษที่ 21 จุดสนใจของโลกได้เปลี่ยนจากความมั่นคงไปสู่การพัฒนา และกลุ่ม G20 เป็นตัวแทนของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก"
ศาสตราจารย์ซิงห์ กล่าวว่า "ผู้นำกลุ่ม G20 จะเข้าร่วมประชุมกัน และจะตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางที่ควรจะเป็นของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ"
ศาสตราจารย์กล่าวว่า ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ชาติเหล่านี้ เป็นตัวแทนของภูมิภาคต่างๆ และความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นของกลุ่ม G20 กับภูมิภาคเหล่านั้น บ่งชี้ถึงเดิมพันในระดับสูง
ศาสตราจารย์ซิงห์กล่าวว่า "เมื่อคุณพูดถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ประเทศเหล่านี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวพันกันอย่างมาก แต่ยังต้องพึ่งพากันด้วย"
ทั้งนี้ การประชุม G20 เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนได้เพิ่มความวิตกไปทั่วโลกเกี่ยวกับแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจโลกในอนาคต
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนได้จัดการสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ตามที่ปธน.ทรัมป์เรียกร้อง
ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า เขาหวังที่จะพบปะกับปธน.สีอีกครั้งระหว่างการประชุมซัมมิต G20 ที่นครโอซากาในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และจะจัดการหารือประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคี และประเด็นต่างๆ ที่เป็นความวิตกกังวลร่วมกัน
ปธน.สีระบุว่า เขาพร้อมที่จะพบปะกับปธน.ทรัมป์ที่โอซากาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อประเด็นพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน
ศาตราจารย์ซิงห์ กล่าวว่า "G20 จะได้รับความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับการหาทางคลี่คลายปัญหาบางส่วน หากไม่สามารถหาทางออกได้สำหรับความตึงเครียดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างสหรัฐและจีน ทั่วโลกให้ความสนใจกับการประชุมระหว่างปธน.ทรัมป์และปธน.สี "
ศาสตราจารย์ซิงห์ได้อ้างข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่า เศรษฐกิจโลกอาจหดตัวลงราว 0.5% หรือราว 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเนื่องมาจากความตึงเครียดด้านการค้าและภาษีระหว่างสหรัฐ-จีน
ศาสตราจารย์ระบุว่า นโยบายปกป้องการค้าและความคิดที่ว่า"อเมริกาต้องมาก่อน"ของปธน.ทรัมป์นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างแน่นอน
"แม้นโยบายดังกล่าวทำให้เกิดการขยายตัวเชิงบวกบางส่วนในระยะสั้น แต่บริษัทสหรัฐก็ได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบในระยะยาวแล้ว ในขณะที่ประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึงการปิดกั้นปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไว้ภายในประเทศ หรือกำหนดเงื่อนไขสำหรับประเทศอธิปไตยอื่นๆ"
ศาสตราจารย์ซิงห์ตั้งข้อสังเกตว่า การที่สหรัฐสั่งห้ามบริษัทสหรัฐทำธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ยของจีนนั้น เป็นเรื่องการเมือง
"การพัฒนาอย่างมากของจีน และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ได้ส่งสัญญาณเตือนสหรัฐเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จีนจะก้าวขึ้นมาแทนที่สหรัฐไม่ช้าก็เร็ว" ซิงห์กล่าว
"แรงจูงใจพื้นฐานเบื้องหลังการปรับขึ้นภาษีการค้าและการห้ามทำธุรกิจกับหัวเว่ยนั้น ยังคงเป็นความต้องการที่จะชะลอการผงาดขึ้นของจีนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้"
เมื่อถูกถามว่าความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงหรือไม่นั้น ศาสตราจารย์ซิงห์ตอบว่า สถาบันระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงหลายสำนักได้เปิดเผยการคาดการณ์แล้วเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบของความขัดแย้งด้านการค้าดังกล่าว