นายอินดรานิล เซน กุปตา นักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ (BofAML) ในมุมไบเปิดเผยว่า เศรษฐกิจอินเดียที่ชะลอตัวนั้น อาจกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นปี 2563
"เราเห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจอินเดียในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่วิกฤตภายใต้สถานการณ์ใดๆ แต่เป็นไปตามวัฏจักร โดยมีจุดกำเนิดจากภาวะสภาพคล่องตึงตัวในปี 2561" นายเซน กุปตาเปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวในวันพฤหัสบดี
นายเซน กุปตากล่าวว่า การที่ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) และกระทรวงการคลัง ดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้วนั้น "เราคาดว่า จะเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเล็กน้อยในช่วงต้นปี 2563"
เศรษฐกิจของอินเดียขยายตัว 5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. เมื่อเทียบกับระดับ 5.8% ในไตรมาสก่อนหน้า การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ซบเซาลงได้กดดันรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ให้ฟื้นฟูแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งนำไปสู่การควบรวมกิจการของธนาคารภาครัฐหลายแห่งในประเทศ เพื่อปรับปรุงสภาพคล่อง และประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อ
การชะลอตัวทางเศรษฐกิจมีผลกระทบอย่างมากต่อภาคการผลิตรถยนต์ของอินเดียเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่นๆ โดยมีรายงานว่ายอดขายรถยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันในเดือนส.ค. โดยยอดขายร่วงลง 31.57% สู่ระดับ 196,524 คัน
นายเซน กุปตา เปิดเผยว่า มีแนวโน้มสำหรับการกระตุ้นด้านทางการคลังที่ 0.20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยที่ไม่กระทบอัตราผลตอบแทนพันธบัตร และลดขอบเขตของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของอินเดียในตลาดภายในประเทศขณะนี้อยู่ที่ 6.68% ลดลงจากระดับ 8.18% หลังจากที่ธนาคารกลางของอินเดียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 4 ครั้งรวม 1.10% ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง การขอสินเชื่อกลับไม่กระเตื้องขึ้น โดยธนาคารกลางระบุว่า การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารที่ไม่เกี่ยวกับอาหารชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนที่ 11.1% ในเดือนมิ.ย.ปีนี้
นายเซน กุปตา กล่าวว่า รัฐบาลของนายโมดีได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายการคลังที่รอบคอบ
รายงานของสื่อได้สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลที่ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษี และจะบังคับให้รัฐบาลเพิ่มเป้าหมายการขาดดุลการคลังเป็น 3.5% ของ GDP จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 3.3%
นายเซน กุปตากล่าวว่า ความตึงเครียดด้านการค้าโลก จะส่งผลกระทบต่ออินเดียน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียขับเคลื่อนโดยอุปสงค์ภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดด้านการค้าโลกจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมผ่านทางตลาดการเงิน ขณะที่การลงทุนของต่างชาติ (FPI) ลดลงในช่วงเวลาที่เกิดความไม่แน่นอนไปทั่วโลก
เขาระบุว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแตะระดับ 6.8% ในปี 2563-2564 (เม.ย.-มี.ค.) หากมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติสำหรับการเกษตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ระดับ 6.2% ในปี 2562-2563
นายเซน กุปตา กล่าวว่า นอกเหนือจากปริมาณน้ำฝนที่ปรับตัวดีขึ้นแล้ว ผลกระทบจากตัวเลขฐานที่จางหายไป และ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดจากมาตรการริเริ่มโดยธนาคารกลางและรัฐบาลอินเดียนั้น อาจนำไปสู่การฟื้นฟูการขยายตัว
โดย ไคลาช ราชวาคาร์
สำนักข่าวซินหัว