นักวิเคราะห์เชื่อว่า ไม่เพียงแต่ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จ จะช่วยอัดฉีดแรงขับเคลื่อนของสู่ทั้งสองเขตเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง แต่ยังช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีอำนาจมากขึ้นในการกำหนดกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่า ด้วยอุปสรรคนานับประการ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่สองเขตเศรษฐกิจจะสร้างเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้
นายไมเคิล โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐเปิดเผยว่า การหารือรอบแรกที่สิ้นสุดลงถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการเจรจาทั้งหมด
นายอิกนาซิโอ การ์เซีย-เบอร์เซโร ผู้นำคณะเจรจาของอียูระบุว่า ทั้งสองฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่า TTIP จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในการเข้าถึงตลาด และการกำกับดูแล ตลอดจนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและการกำหนดกฎเกณฑ์
นักวิเคราะระบุว่า สาเหตุที่ทั้งสองฝ่ายมีความกระตือรือร้นเกี่ยวกับ TTIP เพราะเห็นได้ชัดว่าจะได้รับประโยชน์จากผลการเจรจาต่อรอง
ผลการวิจัยของคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวอาจทำให้อียูมีรายได้ประมาณ 1.19 แสนล้านยูโรต่อปี (1.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) และรายได้สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ 9.5 หมื่นล้านยูโรต่อปี (1.24 แสนล้านดอลลาร์)
ไม่เพียงเท่านี้ นักวิเคราะห์ยังระบุว่า ด้วย TTIP จะทำให้สหรัฐและอียูมีบทบาทเป็นผู้นำในการกำหนดกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศในอนาคต ในขณะที่มีประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพิ่มขึ้น
ทูตอียูประจำประเทศจีนรายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า อียูและสหรัฐอาจเสริมอำนาจในการหารือและปฏิบัติการเชิงรุกในด้านการกำหนดกฎเกณฑ์ผ่านทาง TTIP โดยกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่กำหนดโดยทั้งสองฝ่ายาอาจขยายขอบเขตไปสู่ระดับสากล
นักวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสภาเยอรมนียังตั้งข้อสังเกตว่า TTIP อาจเป็นแนวทางในระยะทดลองของสองเขตเศรษฐกิจ เพื่อใช้ทดสอบกฎระเบียบที่ทั้งสองฝ่ายริเริ่มขึ้นมา แต่ยังไม่ได้ดำเนินการในกรอบกว้างๆ
แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะคาดหวังข้อตกลงขั้นสุดท้ายเอาไว้สูง แต่การหารือ TTIP ระหว่างทั้งสองฝ่ายซึ่งต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆนั้น คาดว่า จะต้องมีขวากหนามและอุปสรรค
เจฟฟรีย์ ชอตต์ สมาชิกอาวุโสจากสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศปีเตอร์สัน ระบุว่า ภารกิจในการหารือรอบแรกของทั้งสองฝ่ายคือการกำหนดระเบียบวาระต่างๆ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงในประเด็นที่ข้อขัดแย้งกันน้อย ส่วนประเด็นที่ลำบากมากๆจะเก็บไว้หารือกันในอนาคต
นายชอตต์ระบุว่า พิกัดภาษีถือเป็นประเด็นเด่นในบรรดาประเด็นลับลวงพรางต่างๆ โดยกล่าวเสริมว่า การลดพิกัดภาษีถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมากและมีอุปสรรคทางการเมือง
ตัวเลขจากองค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า อัตราพิกัดภาษีเฉลี่ยสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรระหว่างอียูและสหรัฐอยู่ที่ 18% แม้ว่าภาษีศุลกากรในภาพรวมค่อนข้างจะต่ำ
โฮซุก ลี-มากิยามะ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศของยุโรป ระบุว่า เป็นเรื่องยากในการรับมือมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี ลำพังประเด็นการเข้าถึงตลาดสำหรับสินค้าเกษตรอย่างเดียวอาจนำไปสู่ทางตันได้
ยิ่งไปกว่านั้น การประสานความร่วมมือระหว่าง 27 ประเทศสมาชิกของอียู ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย และยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับสหรัฐที่จะทำให้ 50 รัฐร่วมมือกัน
เขากล่าวว่า อียูต้องการให้สหรัฐเปิดภาคการเงินและภาคระบบขนส่งพื้นฐาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้อยู่ในขอบเขตอำนาจศาลในระดับรัฐ และเป็นการยากที่จะได้เห็นรัฐทุกรัฐของสหรัฐเดินเป็นไปในทิศทางเดียวกัน