Analysis: เอเชียเล็งควบคุมหนี้ภาคครัวเรือน ขณะสหรัฐส่งสัญญาณยกเลิก QE

ข่าวต่างประเทศ Monday July 15, 2013 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้ว่านายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงความคิดเห็นในเชิงผ่อนคลายเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินของสหรัฐเมื่อวันพุธที่ผ่านมา แต่คาดว่าหลายประเทศในเอเชียได้เตรียมออกมาตรการมาเพื่อควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือน

นับตั้งแต่นายเบอร์นันเก้ได้เริ่มเปิดเผยกลยุทธ์ของเฟดว่ายด้วยการยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เมื่อเดือนพ.ค.นั้น ตลาดเอเชียได้เผชิญกับความผันผวนที่รุนแรงมากขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้น

ขณะที่นายเบอร์นันเก้ได้เน้นย้ำในสัปดาห์ที่แล้วว่า เขาจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย "สักระยะหนึ่ง" และระบุว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเฟดยังมีความจำเป็นสำหรับอนาคตอันใกล้นั้น ธนาคารกลางของประเทศในเอเชียไม่ได้อิงกระแสการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินที่อาจจะมีขึ้นในสหรัฐ โดยธนาคารกลางบางรายได้ดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการขยายตัวด้านสินเชื่อที่นำโดยความเฟื่องฟูของภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางมาเลเซียได้ออกมาตรการใหม่ๆเพื่อควบคุมหนี้สินภาคครัวเรือน เช่น การลดระยะเวลาสูงสุดของเงินกู้จำนองลงจาก 45 ปีเหลือเพียง 35 ปี โดยมาตรการดังกล่าวมีขึ้นไม่เพียงไม่นาน หลังจากสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด รีเสิร์ช เปิดเผยรายงานการประเมินความเสี่ยงด้านสินเชื่อของกลุ่มประเทศในเอเชีย ซึ่งระบุว่า หนี้สินภาคครัวเรือนของมาเลเซียได้ปรับขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 83% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2556 จากระดับ 80% ณ สิ้นปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสิงคโปร์ ได้เปิดเผยกรอบการทำงานเพื่อจำกัดสัดส่วนการชำระหนี้ทั้งหมดของเงินกู้ด้านอสังหาริมทรัพย์ไว้ที่ 60% ของรายได้ ซึ่งรวมถึงสินเชื่อนอกภาคอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เช่น สินเชื่อรถยนต์

ในขณะที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ระบุว่า กรอบการทำงานดังกล่วไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้เป็นมาตรการชะลอความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่มาตรการล่าสุดนี้ ซึ่งมีขึ้นเช่นดียวกับมาเลเซีย ได้ตอกย้ำถึงความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นของธนาคารกลางในเอเชียเกี่ยวกับความเสี่ยงจากสินเชื่อภาคครัวเรือน ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น หากสหรัฐเริ่มชะลอมาตรการกระตุ้นทางการเงิน

ความวิตกกังวลดังกล่าวเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสินเชื่อที่ระดับต่ำและราคาสินทรัพย์ที่สูงได้เป็นสาเหตุให้หนี้สินภาคครัวเรือนในหลายประเทศของภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่นานมานี้ ทั้งนี้ มีสัญญาณเตือน ขณะที่การกู้ยืมของภาคครัวเรือนเมื่อเทียบกับรายได้ในบางประเทศของเอเชียมีสัดส่วนสูงกว่าในสหรัฐเมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มเกิดวิกฤตสินเชื่อผู้บริโภค

เมื่อเร็วๆนี้ เอชเอสบีซี โกลบอล รีเสิร์ช ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของเอเชียสำหรับปีนี้ลงจาก 6% ในปีก่อน มาอยู่ที่ราว 4.5% เนื่องจากขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงและอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นนั้น การชำระหนี้สินอาจกลายเป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนที่มีภาระหนี้สินสูงเกินไปและต้องตกงาน

เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะขยับสูงขึ้น ขณะที่มีการชะลอมาตรการกระตุ้นทางการเงินในสหรัฐและคาดว่าเศรษฐกิจในเอเชียจะขยายตัวชะลอลงนั้น ธนาคารกลางต่างๆในภูมิภาคจึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะสกัดการขยายตัวของหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันที่จำเป็น

บทวิเคราะห์โดย ตัน ซือ หมิง จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ