China Voice: จีดีพีจีนชะลอตัวส่งสัญญาณถึงการปฏิรูป

ข่าวต่างประเทศ Monday July 15, 2013 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เศรษฐกิจจีนชะลอตัวติดต่อกันเป็นไตรมาส 2 ในปีนี้ แต่การชะลอตัวดังกล่าวอาจกระตุ้นคณะผู้นำประเทศชุดใหม่ให้ออกมาตรการปฏิรูปเพิ่มขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่แวดล้อมไปด้วยกำลังผลิตส่วนเกินและความไม่แน่นอนทางการเงิน

ข้อมูลทางการจีนเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในไตรมาส 2 ขยายตัวลดลงสู่ระดับ 7.5% จากหนึ่งปีก่อน ลดลงจากระดับขยายตัว 7.7% ในไตรมาสแรก และยังต่ำกว่าระดับของเมื่อหนึ่งปีที่แล้วที่ 7.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงลังเลที่จะกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายทางการเงิน หรือการลงทุนที่เดินหน้าโดยรัฐในขณะนี้ เนื่องจากหนี้สินรัฐบาลท้องถิ่นและภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ขยายตัวในระดับที่มีความเสี่ยงจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งก่อนๆ

คณะผู้บริหารชุดใหม่จึงเรียกร้องให้มีการพัฒนาและปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนแทน นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมี.ค.

ช่วงขาลงช่วงครึ่งปีแรกอาจเป็นสัญญาณล่าสุดของจีนว่า ถึงเวลาเสริมและเร่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งจะปรับสมดุลของเศรษฐกิจจีนที่ขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกไปสู่รูปแบบของการบริการและการบริโภคเป็นหลัก

"เศรษฐกิจจีนเผชิญกับสถานการณ์ซับซ้อนที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และเพื่อประยุกต์ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน จีนต้องเร่งการปฏิรูป" นายจาง หลี่ฉุน นักวิจัยอาวุโสของศูนย์วิจัยพัฒนา สังกัดรัฐบาลจีน

"เวลาไม่เคยรอใคร เราต้องรับรู้ถึงความเร่งด่วน เราต้องแนวแน่และมุ่งมั่นต่อแผนปฏิรูปที่สามารถนำมาปฏิบัติได้" นายจางแนะนำ

ถ้าไม่เสียอะไรไป ก็ไม่ได้อะไรมา

ความเสียหายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากจีนแหกกฎโมเดลการเติบโตแบบเก่าๆ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างอาจฉุดการขยายตัวของจีดีพีลงอีก หรือต่ำลงยิ่งกว่าระดับต่ำสุดที่รัฐบาลกำหนดไว้

ยกตัวอย่างเช่น จีนจำเป็นต้องรับมือการล้มละลายของบริษัทของเอกชนและรัฐบาลส่วนในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับความเดือดร้อนจากกำลังผลิตส่วนเกิน

การลดการระดมทุนไปยังสถานประกอบการประเภท "สัมภเวสี" และลดกลไกการระดมทุนของรัฐบาลลงอย่างหนักโดยไม่ยั้งคิดอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระเงินระลอกใหม่ และอาจสร้างความเสียหายให้แก่ภาคการเงิน เจ้าหนี้บางรายอาจล้มละลายเนื่องจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก่อตัวสูงขึ้น

"เราอาจจะสละการขยายตัวไปส่วนหนึ่ง แต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็น" หยู หยงติง นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS) กล่าว "เศรษฐกิจจีนกำลังซบเซา แต่ยังไม่ทะลุระดับต่ำสุด รัฐบาลชุดใหม่คิดถูกในเรื่องการเสริมการปฏิรูประดับโครงสร้าง"

"การมองในมุมลบหรือหวาดกลัวการขยายตัวของจีน ยังไม่ใช่เรื่องที่จำเป็น ตราบใดที่การขยายตัวของจีดีพีเคลื่อนตัวระหว่าง 7-8% ก็จะไม่มีปัญหาอะไรในการเดินหน้าการปฏิรูป" นายหยูกล่าว

แต่เนื่องจากรัฐบาลได้เร่งกลไกตลาดไปด้วย ดังนั้น จึงทำให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงที่ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างที่เร็วเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิด "ภาวะถดถอย" ทางเศรษฐกิจ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงกล่าวกับผู้ว่าการประจำมณฑลต่างๆว่า นโยบายต่างๆจะต้องคงระดับการขยายตัวและการจ้างงานให้อยู่เหนือ "ขีดต่ำสุด" และอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ต่ำกว่าระดับ "เพดาน"

"ประชาชนต้องอดทน การปฏิรูปไม่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเพียงชั่วข้ามคืน" นายจาง เจียน นักเศรษฐศาสตร์จากบาร์เคลย์ระบุ "รัฐบาลกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แต่ยังคงยึดนโยบายในระดับต่ำสุดอยู่"

ยกระดับเศรษฐกิจ

จังหวะเวลาเรียกได้ว่าเข้าข้างรัฐบาลชุดใหม่ของจีน ความกลัวเกี่ยวกับปริมาณแรงงานที่ลดลงครั้งใหญ่กำลังแผ่วลง ขณะที่ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับการขยายตัวของจีดีพีที่ชะลอตัวลง กลับมีมากขึ้น

ข้อมูลด้านการจ้างงานระบุว่า อุปสงค์แรงงานน่าจะนำหน้าอุปทาน เนื่องจากภาคบริการที่กำลังขยายตัวได้ดูดซับแรงงานจากภาคการผลิตที่ลดลง

กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมของจีนเปิดเผยว่า ผู้หางานทุกๆ 100 คน มีโอกาสได้งาน 107 ตำแหน่งในไตรมาส 2 ลดลงเล็กน้อยจาก 110 ตำแหน่งในไตรมาสแรก

แม้ว่าจีนจะประสบกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่ตัดสินศักยภาพของเจ้าหน้าที่จากประเด็นการขยายตัวของจีดีพีที่ดีขึ้นเท่านั้น

นายกรัฐมนตรีหลี่ยังให้คำมั่นในที่ประชุมระดับประเทศในเดือนพ.ค.ว่า รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเสริมการปฏิรูป ประกอบด้วย การขยายเส้นทางเข้าสู่ตลาดและลดการแทรกแซงของรัฐบาล

รัฐบาลจีนชุดใหม่ได้ยุติกฎหมาย 133 มาตราที่ก่อนหน้านี้ต้องขออนุมัติจากทางรัฐบาลกลาง ภายหลังนายกรัฐมนตรีหลี่ให้คำมั่นในการแถลงข่าวหลังการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกว่า รัฐบาลกลางจะลดมาตราลงมากกว่า 560 มาตราภายใน 5 ปี

"เราไม่ได้สนใจว่ารัฐบาลจะทำอะไรเพื่อที่จะช่วยเหลือ จริงๆแล้ว เราต้องการดูว่ารัฐบาลจะไม่ทำอะไรบ้าง" ชาว เสี่ยวเฟิ่ง หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านความเสี่ยงจากอาลิบาบา กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทด้านอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดของโลก กล่าว

"การปฏิรูปโครงสร้างการคลัง การตั้งราคาวัตถุดิบ และการแทรกแซงของรัฐบาลนั้นคาดว่าจะมีประกาศออกมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า" จิ้ง อูลริช กรรมการผู้จัดการของเจพีมอร์แกน เชส ประจำประเทศจีนกล่าว

"ภาคบริการและภาคการผลิตสินค้าคุณภาพสูงน่าจะเป็นกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ของจีน รัฐบาลต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมเกิดใหม่เช่น อีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะพลิกผันอุปสรรคที่เหล่านักลงทุนกำลังเผชิญอยู่" อูลริชกล่าว สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ