Analysis: การแต่งตั้งนายกฯรักษาการคนใหม่จุดประเด็นความขัดแย้งในอียิปต์

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 11, 2013 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การแต่งตั้งนายฮาเซม อัล-เบบลาวีเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการกระตุ้นความขัดแย้งขึ้นในกลุ่มประชาชนชาวอียิปต์ นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการแต่งตั้งดังกล่าวเป็น “ตัวเลือกที่สมเหตุสมผล" เนื่องจากนายอัล-เบบลาวีเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีความเกี่ยวพันทางการเมือง ขณะที่นักวิเคราะห์รายอื่นๆมองว่านายอัล-เบบลาวีไม่ความเหมาะสมกับ “ภาวะวิกฤต" เช่นนี้

นายอัล-เบบลาวี เคยทำหน้าที่ในตำแหน่งรมว.กระทรวงคลังในคณะรัฐบาลชุดก่อนของอดีตนายกรัฐมนตรีเอสซาม ชาราฟในปี 2554 และเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ โดยนายอัล-เบบลาวีได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีอัลดี แมนซูร์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงการเปลี่ยนผ่านอำนาจ หลังเกิดภาวะชะงักงันทางการเมืองมาเป็นเวลาหลายวัน

การจัดการปัญหาเศรษฐกิจ และเติมเต็มช่องว่างทางการเมือง

พรรค Salafist Nour Party ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งบุคคลอื่นๆเป็นนายกรัฐมนตรี โดยปฏิเสธผู้ที่มีความเกี่ยวพันทางการเมือง

ด้วยเหตุนี้ การเลือกนายเบบลาวีจึงเป็น “ความพึงพอใจ" จากฝ่ายการเมือง

นายฮุสเซน อับเดล-ราเซค ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองและผู้นำพรรคทากัมมู กล่าวว่านายเบบลาวีมีคุณสมบัติตรงกับความต้องการ ณ ขณะนี้เนื่องจากเป็น “ผู้ที่เป็นกลาง"

“เบบลาวีไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด เขาเป็นนักเสรีนิยม เขาจะเปิดกว้างต่ออุดมการณ์ ความคิดทางการเมืองและแนวทางต่างๆ ดังนั้น เขาอาจจะประสบความสำเร็จใน “การสร้างความสมานฉันท์ทางการเมือง" ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนในตอนนี้"

“เขาสามารถขจัดความแตกต่างระหว่างพรรคต่างๆ และในเวลาเดียวกัน เขาก็สามารถยุติวิกฤตเศรษฐกิจได้ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์"

นายราเซคเสริมว่า “เบบลาวีจะทำงานเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของอียิปต์ในขณะนี้ด้วยประสบการณ์อันยาวนานของเขา และเขาอาจจะจัดการกับสถานการณ์ระยะนี้ได้ด้วยประสบการณ์ด้านการบริหารระหว่างดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการพัฒนาการส่งออกแห่งอียิปต์

ขณะเดียวกัน นายอาเหม็ด ทาฮา โฆษกสมาคมเพื่อการเปลี่ยนแปลงแห่งชาติ (National Association for Change) กล่าวว่านายเบบลาวีเป็นนักอนุรักษ์นิยม ที่ “ไม่พึงใจกับการใช้อิทธิพลทางการเมือง" แต่เขาเป็นผู้มี “ชื่อเสียงในด้านดี"

“สมาคมของเราต้องการเลือก “นักปฏิวัติ" แบบนายโมฮาเหม็ด เอลบาราเด เป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่การเลือกนายเบบลาวีก็ไม่แย่นัก เพราะจะช่วยสร้าง “ฉันทามติ" ทางการเมืองระหว่างพรรคต่างๆ และเขาก็เป็นผู้ประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่"

ในทางกลับกัน นายอาเหม็ด มาห์ราน หัวหน้าศูนย์การศึกษาทางการเมืองและทางกฎหมายในไคโร กล่าวว่า นายเบบลาวีเป็นตัวเลือกที่ “แย่และไม่สามารถยอมรับได้"

“ประสบการณ์ของเบบลาวีในคณะรัฐบาลของนายเอสซาม ชาราฟพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาไม่สามารถมีส่วนร่วมกับรัฐบาลเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการแก้ไขวิกฤตที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น"

“การเลือกเบบลาวีขัดแย้งกับความต้องการของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ซึ่งต้องการผู้นำรุ่นเยาว์ ไม่ใช่ผู้นำจากยุค 70 เขาเป็นคน “ธรรมดา" ที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลจากกลุ่มคนรุ่นเยาว์และไม่สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงในตอนนี้ได้" เขาเสริม และคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นให้มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน บรรดาผู้นำกลุ่มภราดรภาพมุสลิม กล่าวว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งเป็นผลจากการขับไล่ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี

นายอาเหม็ด โซเบ ที่ปรึกษาด้านสื่อของพรรค Freedom and Justice Party (FJP) ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมกล่าวว่า “พรรคจะไม่ยอมรับหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองใดๆ ที่เป็นผลจากการทำรัฐประหารที่ขับไล่ประธานาธิบดีที่มีความชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงคณะรัฐบาลหรือการประกาศรัฐธรรมนูญ"

เขายืนยันว่าการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมอร์ซีกลับสู่ตำแหน่งเป็นประเด็นหลักในกระบวนการทางการเมืองสำหรับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม โดยเน้นย้ำว่าทางพรรคและกลุ่มผู้สนับสนุนนายมอร์ซีจะยังคงประท้วงต่อไปจนกว่านายมอร์ซีจะกลับมา

โดย : ไชม่า เบเฮรีและ มาร์วา ยาห์นา สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ