ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน (CAAM) ระบุว่า ยอดขาย และยอดการผลิตรถยนต์จากจีนทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน โดยมียอดการผลิตรถยนต์แตะ 10.75 ล้านคัน และทำยอดขายได้ 10.78 ล้านคัน
แต่ทว่าแบรนด์รถยนต์จีนกลับมีส่วนแบ่งในตลาดที่หดตัวลง เนื่องจากการแข่งขันกับแบรนด์ต่างชาติสูงขึ้น และกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการครอบครองรถยนต์ที่เข้มงวด เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด
ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ยอดขายรถยนต์จีนแตะที่ระดับ 3.57 ล้านคัน นับเป็นรถยนต์โดยสารของจีน 41.2% ของยอดขายรถยนต์โดยสารทั้งหมด
หยาง เหว่ย ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในเหอเฟย อองฮุย เมืองหลวงของมณฑลอานฮุยทางตะวันออกของจีน ระบุว่า "การผลักดันยอดขายในปีนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนอย่างในปี 2552"
หยาง เหว่ย กล่าวอีกว่า ตัวแทนจำหน่ายที่มุ่งเป้าไปที่การขายรถยนต์สัญชาติจีนกำลังเผชิญกับปัญหาสินค้าค้างสต็อก
แบรนด์รถยนต์จีนทำยอดขายได้ดีในปี 2552 หลังจากที่รัฐบาลออกมาใช้มาตรการกระตุ้น และให้เงินสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือบริษัทรถยนต์ภายในประเทศในขณะที่เกิดวิกฤตทางการเงินทั่วโลก
นโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนได้สิ้นสุดลงในปี 2553 ทำให้บริษัทรถยนต์ต่างต้องพึ่งพาตนเอง ยอดขายรถยนต์โดยสารจึงดิ่งลงนับตั้งแต่นั้น
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของจีนส่วนใหญ่มุ่งเน้นผลิตรถยนต์ระดับโลว์เอ็นด์ เพื่อกระตุ้นการขยายฐานการตลาด ขณะที่จำนวนประชากรที่มีกำลังซื้อมากขึ้นถูกครอบงำโดยแบรนด์รถยนต์ต่างประเทศ ซึ่งการผลิต และจัดจำหน่ายผ่านบริษัทร่วมทุนของบริษัทรถยนต์ของจีน
ฮู เวินโซว นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ของแบงก์ ออฟ ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศจีน) ระบุว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของจีนพุ่งเป้าไปที่การขยายส่วนแบ่งการตลาดมากเกินไป โดยไม่สนใจปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวกับการเติบโตของกิจการ
ฮู เวินโซว กล่าวว่า "บริษัทรถยนต์ภายในประเทศให้ความสำคัญกับปริมาณการผลิต และผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆออกมาโดยมองข้ามในเรื่องของคุณภาพ และการบริการ"
เหลียง หัวปิง ประธานสมาคมผู้ผลิตยานยนต์อานฮุย กล่าวว่า เทคโนโลยี การสร้างแบรนด์ บริการหลังการขาย และนวัตกรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาบริษัทผลิตรถยนต์ของจีนได้
ขณะเดียวกัน การจำกัดจำนวนการซื้อรถยนต์ในเมืองที่มีประชากรมากขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ฉุดรั้งยอดขายด้วยเช่นกัน
เมืองใหญ่ๆอย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางตุ้ง มีการประมูล หรือจำหน่ายแผ่นป้ายทะเบียนรถเพื่อจำกัดจำนวนผู้มีสิทธิ์ครอบครองรถยนต์ และป้องกันการจราจรติดขัด รวมถึงมลภาวะอีกด้วย ขณะที่หลายมณฑลกำลังให้ความสนใจกับมาตรการเหล่านี้
นับตั้งแต่ที่การขอแผ่นป้ายทะเบียนรถกลายเป็นเรื่องยุ่งยากมากยิ่งขึ้น แบรนด์รถยนต์จีนก็หมดกระแสความนิยมตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้ซื้อชาวจีนที่ต้องทำเรื่องขอป้ายทะเบียนอย่างยากลำบากมีแนวโน้มว่า จะหันมาใช้รถยนต์จากต่างประเทศมากกว่า ด้วยมุมมองเรื่องคุณภาพที่สูงกว่าแม้ว่า ราคาจะสูงก็ตาม
เฟง ฮุย ผู้ที่ตั้งใจจะซื้อรถยนต์ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า แบรนด์ของจีนไม่ใช่ตัวเลือกของเขา
เฟง ฮุย กล่าวว่า "การขอรับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์จะต้องใช้เงินถึง 80,000 - 90,000 หยวน ดังนั้นผมจึงไม่อยากได้รถที่มีราคาต่ำกว่าป้ายทะเบียน มันไม่คุ้มกัน"
ยอดขายรถยนต์ของจีนที่ลดลงทำให้บางบริษัทต้องหาวิธีการนำเสนอรูปแบบใหม่เพื่อดึงลูกค้ากลับคืนมา
เชอรี่ย์ ออโต้ หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน กำลังปรับปรุงรถยนต์ของตนเองโดยปรับลดรุ่นรถยนต์จากกว่า 20 รุ่นลงเหลือ 12 รุ่น
แบรนด์รถยนต์จีน อาทิ เกรท วอล มอเตอร์, เชอรี่ย์ และกีลี่ย์ ต่างก็กำลังพยายามทุ่มเทการลงทุนในด้านการวิจัยความปลอดภัยของรถยนต์ด้วยเช่นกัน
ฮู เวินโซว นักวิเคราะห์ กล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศได้ตระหนักแล้วว่า พวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เพราะการมุ่งเน้นปริมาณการผลิตเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกอบกู้ยอดขายของพวกเขากลับคืนมาได้
ชาน ติงติง และ หลิว ตง สำนักข่าวซินหัวรายงาน