นายโนฮา บัคร์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งไคโร แสดงความเห็นว่า "ความโกลาหล" ในอียิปต์จะส่งผลกระทบแผ่ขยายไปทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศอิสราเอลและเมืองกาซ่า
นายบัคร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "ประการแรก มาตรการด้านความปลอดภัยที่เพิ่งดำเนินการไปในบริเวณคาบสมุทรไซนาย อาจส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อสถานการณ์ของกลุ่มฮามาส เนื่องจากทางกองทัพอาจสั่งปิดอุโมงค์และจุดผ่านแดนราฟาห์ทั้งหมดเป็นระยะเวลาที่นานกว่าเดิม อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรักษาความปลอดภัยซึ่งจะทำให้กาซ่า 'ถูกแบ่งแยก' ออกไป
"ประการที่สอง รัฐบาลอิสราเอลกำลังอยู่ในภาวะ "วิตกกังวล" ต่อสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ โดยเหตุก่อการร้ายจากกลุ่มญิฮาดเพื่อกดดันให้กองทัพอียิปต์คืนอำนาจให้นายมอร์ซีที่คาบสมุทรไซนายนั้นส่งผลต่อความมั่นคงของอิสราเอลเป็นอย่างยิ่ง"
ในขณะเดียวกัน นายโมฮาเหม็ด แซอิด เอดริส ผู้เชี่ยวด้านด้านรัฐศาสตร์ประจำศูนย์รัฐศาสตร์และยุทธศาสตร์อัล-อาลัม แสดงความเห็นว่าสถานการณ์ความวุ่นวายในอียิปต์ยังสร้าง "ความวิตก" ต่อประเทศรอบอ่าวเปอร์เซียโดยเฉพาะคูเวต ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ประกาศออกตัวสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบันของอิยิปต์
นายเอดริสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "กลุ่มญิฮาดอาจก่อเหตุก่อการร้ายในลักษณะใกล้เคียงกันเพื่อสร้างความกดดันต่อประเทศดังกล่าว เนื่องจากประเทศเหล่านี้ให้การสนับสนุนรัฐบาลอิยิปต์ในปัจจุบัน"
นายกามาล ซาลามา หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซูเอซ มองสถานการณ์ปัจจุบันในอียิปต์และอาหรับ สปริงว่าเป็นโอกาสทองของอิสราเอล เพื่อทำให้โลกเห็นว่าอิสราเอลเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพในภูมิภาคอันโกลาหลแห่งนี้
เขากล่าวว่า "สถานการณ์ในปัจจุบันของอิยิปต์ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ในทางลบ เนื่องจากอียิปต์นั้นยังคงวุ่นอยู่กับประเด็นความขัดแย้งในประเทศ"
นายซาลามาชี้ว่า หากเหตุก่อการร้ายที่คาบสมุทรไซนายยังไม่ยุติลงในเร็วๆนี้ ทางอิสราเอลอาจใช้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อดำเนินการทางทหาร
บทวิเคราะห์โดย ไชมา เบเฮรี และอิฮาบ อับเดล-ฮาดี จากสำนักข่าวซินหัว