ผู้เชี่ยวชาญคาดดัชนี CPI จีนมีเสถียรภาพในช่วงครึ่งหลังของปี 2556

ข่าวต่างประเทศ Monday August 5, 2013 09:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนจะยังคงเสถียรภาพในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวต่ำกว่า 3%

นายถัง เจียนเหว่ย นักวิเคราะห์ธนาคารแบงก์ ออฟ คอมมิวนิเคชั่นเปิดเผยว่า ความต้องการในประเทศที่ลดน้อยลง ประกอบกับนโยบายการเงินที่รอบคอบ และความเป็นไปได้ที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะลดลงนั้น จะสกัดกั้นไม่ให้ราคาผู้บริโภคของจีนพุ่งขึ้นสูงมากจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม นายถังระบุว่า ดัชนี CPI อาจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เนื่องจากราคาเนื้อสุกรปรับตัวขึ้นเล็กน้อย รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ราคาพลังงานและทรัพยากรจะพุ่งขึ้น และต้นทุนค่าเช่าและอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น

รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวของดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่สำคัญไว้ที่ 3.5% สำหรับปี 2556 ขณะที่ข้อมูลจากทางการล่าสุดระบุว่า ดัชนี CPI ขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบรายปีในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้รัฐบาลจีนยังมีโอกาสปรับสมดุลเศรษฐกิจ

นายเหยา จิงหยวน นักวิจัยจากสำนักงานที่ปรึกษาของรัฐบาลจีนกล่าวว่า จีนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในปีนี้ ซึ่งอาจจะทำให้ราคาสินค้ามีเสถียรภาพ

นายหวัง ยี่หมิง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคจีน สังกัดคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนระบุว่า ดัชนี CPI ไม่น่าจะขยายตัวเกิน 3% ในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค.นั้น ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นราว 2.8%

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน แสดงให้เห็นว่าราคาสัตว์ปีก ผัก อาหารทะเล และถั่วเหลืองอยู่ในช่วงขาขึ้นตั้งแต่กลางเดือนก.ค.เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้น

นายลี่ ฮ่วยจุน นักวิเคราะห์จากเฟิร์ส แคปิตอล กล่าวว่า คาดว่าราคาอาหารทะเลจะสัดส่วนราว 1.7% ของการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารมีแนวโน้มคิดเป็น 1.1% ของการเพิ่มขึ้นของจีดีพี โดยกล่าวเสริมว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะถึง 2.8% ในเดือนก.ค.

ขณะที่รายงานฉบับหนึ่งของ CITIC Securities ระบุว่า ดัชนี CPI ของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนมิ.ย. สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ