เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา UNEP เปิดเผยรายงาน "ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร: เศรษฐกิจและแนวโน้มสำหรับจีน" ในระหว่างการประชุมระดับนานาชาติระยะเวลา 2 วันที่จัดขึ้นในเมืองออร์ดอส เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของจีน
รายงานระบุว่า จีนได้กลายมาเป็นผู้ใช้ทรัพยากรพื้นฐานรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งรวมถึง แร่ธาตุต่างๆ, สินแร่โลหะ, เชื้อเพลิงฟอสซิลและชีวมวล ซึ่งจีนมีปริมาณการบริโภคทรัพยากรภายในประเทศมากกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่า
นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองและในภาคการผลิต ทำให้อัตราการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติต่อหัวของจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 2 เท่าของปริมาณการบริโภคในประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
การพัฒนาชุมชนเมืองและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นปัจจัยผลักดันการบริโภคแร่ต่างๆเพื่อการก่อสร้าง รวมถึงสินแร่โลหะด้วย ขณะที่อัตราการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นก็ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในจีนมากขึ้นด้วย
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตทางเศรษฐกิจของจีนนั้นคิดเป็น 4 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก และเป็น 2 เท่าของประเทศอื่นๆในเอเชียแปซิฟิก
นายอาคิม สไตเนอร์ รองเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ และผู้อำนวยการบริหารของ UNEP กล่าวว่า จีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในจีนต่อความต้องการทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลกเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นายสไตเนอร์กล่าวว่า การเติบโตของจีนมาพร้อมกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มสูงขึ้น
รายงานระบุว่า จีน และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ จำเป็นต้องมีการลงทุนขนานใหญ่ในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แม้ว่าจีนจะกำลังเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรง แต่จีนก็ยังคงเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของโลกในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้ทรัพยากร
รัฐบาลจีนได้พยายามที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่การขยายตัวที่มีความสมดุลมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้ทรัพยากรและพลังงาน สำนักข่าวซินหัวรายงาน