Analysis: นายกฯญี่ปุ่นจ่อขึ้นภาษี แม้หลายเสียงเตือนเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว

ข่าวต่างประเทศ Tuesday August 6, 2013 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นภาษีจากการขายสินค้า เพื่อรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับอาวุโสจะออกมาเตือนว่า การปรับขึ้นอัตราภาษีอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม

รัฐบาลเปิดเผยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของการคาดการณ์สำหรับปีงบประมาณ 2557 - 2558 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 1%

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2556 - 2557 จะขยายตัวขึ้น 2.8% เนื่องจากตลาดแรงงานสดใสมากขึ้น และผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความหวังที่ว่า นโยบายของนายชินโซ อาเบะ จะสามารถเอาชนะภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายทศวรรษได้

เจ้าหน้าที่รัฐบาลระบุว่า นายชินโซ อาเบะ จะยื่นเรื่องการปรับอัตราภาษีขาย หลังจากที่ได้พิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 9 กันยายน

แผนการปัจจุบันภายใต้การบริหารงานของนายชินโซ อาเบะ คือ การขึ้นอัตราภาษีการขายเป็น 8% ในเดือนเมษายน จากระดับ 5% ในปัจจุบัน และเพิ่มขึ้นเป็น 10% ภายในเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งขณะนี้แผนการเดิมได้รวมเข้าสู่นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของนายชินโซ อาเบะแล้ว โดยถูกเรียกขานว่า "อาเบะโนมิกส์"

ทั้งนี้ การขึ้นภาษีการขายมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับปัญหาหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลของญี่ปุ่น ซึ่งในปัจจุบันนี้มีเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และมากที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม

ตามทฤษฎีแล้ว ข้อมูลของสำนักงานคณะรัฐมนตรี บ่งชี้ว่า ในระยะสั้นแผนการขึ้นอัตราภาษีจะมีส่วนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยับขึ้น 0.2% ในปีงบประมาณ 2556 - 2557

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะรัฐมนตรีได้ออกมาระบุว่า การปรับขึ้นอัตราภาษีจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง 0.6% เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศต่างควบคุมการใช้จ่าย ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคในญี่ปุ่นนั้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของ GDP ประเทศ

สำนักงานคณะรัฐมนตรียังคงคาดว่า ราคาผู้บริโภคอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.3% ในปีงบประมาณ 2557 - 2558 แต่ก็บ่งชี้ให้เห็นว่าอัตราดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1.2% เมื่อมีการปรับใช้อัตราภาษีการขาย

สำนักงานคณะรัฐมนตรีระบุว่า รายงานล่าสุดของสำนักงานแสดงให้เห็นว่าราคาผู้บริโภคโดยรวม จะขยับขึ้น 0.5% ในปีงบประมาณ 2556 - 2557

แต่ทว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลก็ออกมาแสดงความวิตกกังวลว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศอาจไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับการปรับขึ้นภาษีตามแผนได้ และนายชินโซ อาเบะ ควรจะมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูเป็นลำดับแรก รองลงมาคือการปรับขึ้นภาษีในอัตราที่พอเหมาะ

ลอเรนท์ ซินแคลร์ นักวิจารณ์เรื่องแปซิฟิก แอฟแฟร์ส กล่าวว่า "ชินโซ อาเบะ ได้ออกมายอมรับว่าการปรับอัตราภาษีเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก และเริ่มมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดระหว่างสมาชิกในทีมงานของรัฐบาลกับกระทรวงการคลัง"

ผู้เชี่ยวชาญให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "เป็นธรรมดาที่กระทรวงการคลังต้องสร้างความไว้วางใจทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจ และตลาดต่างๆของญี่ปุ่น หากชินโซ อาเบะ ยกเลิกการปรับขึ้นอัตราภาษี จะเป็นการบั่นทอนความไว้วางใจ และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวก็จะเพิ่มขึ้นด้วย"

เขากล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ นายกฯญี่ปุ่นกำลังไกล่เกลี่ยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง และสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน เพื่อขอให้เข้าร่วมแผนการเพื่อปรับอัตราภาษี

"มีการคาดการณ์ว่า นายอาเบะอาจระงับการปรับเพิ่มอัตราภาษีขาย หากเขาเห็นว่าการปรับอัตราภาษีจะส่งผลในแง่ลบต่อนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของเขาที่ถูกขนานนามว่า "อาเบะโนมิกส์" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้มีการพิจารณาผลพวงจากมาตราการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลาง และการใช้จ่ายภาคสาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นโดยรัฐบาลเมื่อเร็วๆนี้"

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เปิดตัวแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุก ซึ่งวางแผนจัดสรรเงินกว่า 2 เท่าของวงเงินที่ได้มีการจัดสรรสำหรับการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อตอบโต้รัฐบาลที่ต้องการให้มีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ภายใน 2 ปี

ลอเรนท์ ซินแคลร์ กล่าวว่า "ตอนนี้ นายอาเบะต้องตัดสินใจว่าจะเดิมพันความเสี่ยง และเดินหน้าปรับขึ้นอัตราภาษี หรือจะลองพิจารณา และชะลอแผนการเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และมั่นคง"

แต่ทว่าแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดนายอาเบะ ระบุว่า นายอาเบะต้องการตรวจสอบทางเลือกอื่นๆก่อนที่จะตัดสินใจเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นวิธีที่แสดงให้เห็นว่า นายอาเบะจะไม่ยอมก้มหัวให้กับระบบข้าราชการของกระทรวงการคลัง และหากว่าเขามีทางเลือกอื่น รัฐบาลก็สามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการปรับขึ้นภาษีโดยไม่เกิดผลเสียได้

แหล่งข่าวระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีจะใช้แผนการเดิม และเดินหน้าปรับขึ้นภาษีตามแผน

เมื่อปีก่อน พรรคแอลดีพี และพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคนิวโคไมโตะ รวมถึงพรรคดีพีเจ ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้านต่างเห็นด้วยกับแผนการปรับขึ้นภาษี

อย่างไรก็ตาม กฏหมายญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า รัฐบาลจะต้องยืนยันได้อย่างหนักแน่นว่าเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือกับปัญหาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการอภิปรายในปัจจุบัน

จอน เดย์ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ