Analysis: "โอบามา" เผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากประเด็นอาวุธเคมีซีเรีย

ข่าวต่างประเทศ Monday August 26, 2013 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐอเมริกา เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในประเด็นเกี่ยวกับซีเรีย ด้วยเหตุผลที่ต้องเลือกว่าจะใช้กองกำลังทหารหรือไม่หลังจากได้รับรายงานการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะไม่มีทางเลือกใดปราศจากความเสี่ยง

ขณะนี้ ปธน.โอบามากำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการเผชิญหน้าทางทหารอย่างชัดเจน พร้อมทั้งเรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว โดยผู้เข้าร่วมการประชุมได้แก่ นายโจ ไบเดน รองประธานาธิบดีสหรัฐ, นายจอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายชัค ฮาเกล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นางซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ, นายจอห์น เบรนนัน ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ หรือ CIA, นายพลมาร์ติน เด็มป์ซี่ย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วม และเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสอื่นๆ

ทำเนียบขาว ระบุว่า "ปธน.โอบามาได้ทบทวนพิจารณาลายละเอียดของทางเลือกต่างๆที่มีความเป็นไปได้ ซึ่งเขาได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและประชาคมระหว่างประเทศเตรียมความพร้อม เพื่อตอบโต้การใช้อาวุธเคมีในซีเรีย"

เจ้าหน้าที่สหรัฐ ระบุว่า ทางเลือกดังกล่าวมีตั้งแต่การโจมตีที่มีความแม่นยำโดยการยิงขีปนาวุธนำวิถี ไปจนถึงการสู้รบทางอากาศ ทางด้านนายฮาเกล ซึ่งอยู่ในระหว่างการเยือนเอเชีย ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า กระทรวงกลาโหมได้เตรียมทางเลือกต่างๆไว้รับมือกับเหตุฉุกเฉินทุกกรณีตามคำสั่งของปธน.โอบามาแล้ว

เขากล่าวในการแถลงข่าวหลังการประชุมร่วมกับนายฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซียเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า "เราพร้อมที่จะดำเนินการตามทางเลือกใดก็ตามที่ปธน.โอบามาตัดสินใจเลือก"

ขณะเดียวกัน กองกำลังทหารสหรัฐก็กำลังดำเนินการการทูตแบบนาวิกานุภาพอยู่ ขณะที่สื่อรายงานเมื่อวันเสาร์โดยอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่กลาโหมที่ระบุว่า กองทัพเรือสหรัฐได้ส่งเรือรบลำที่ 4 พร้อมขีปนาวุธนำวิถี ไปทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน

นอกจากนี้ ปธน.โอบามายังสร้างความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ขณะที่กองกำลังทหารสหรัฐเดินหน้าทำงานกันอย่างหนัก โดยปธน.โอบามาประชุมหารือเรื่องสถานการณ์ในซีเรียรวมถึงวิธีการตอบโต้ที่เหมาะสมจากประชาคมระหว่างประเทศร่วมกับนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษเมื่อวันเสาร์ และกับปธน.ฟรองซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศสเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

การเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้บ่งชี้ถึงการแทรกแซงทางการทหาร แต่ปธน.โอบามายังคงมีความระมัดระวัง โดยเขากล่าวให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆนี้กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการต่อไป สหประชาชาติ หรือยูเอ็นจะต้องมีข้อสรุปอย่างเป็นทางการว่า ปธน.บาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรียได้สั่งโจมตีด้วยอาวุธเคมีจริง ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนนับร้อย นับพันคน ซึ่งรวมถึงเด็กและสตรีด้วย

ปธน.โอบามากล่าวว่า สหรัฐทำได้เพียงเคลื่อนไหวกองกำลังทหารเพื่อปฏิบัติการในบางกรณีหากได้รับการอนุมัติจากยูเอ็น หรือฉันทามติจากนานาประเทศก่อน

ผู้นำสหรัฐระบุว่า "กฏหมายระหว่างประเทศมีข้อกำหนดอยู่มากมาย หากสหรัฐแทรกแซง และโจมตีประเทศอื่นๆโดยมิได้รับความเห็นชอบจากยูเอ็น และไม่สามารถนำเสนอหลักฐานที่ชัดเจนได้ จะทำให้เกิดประเด็นสงสัยมากมายว่าการกระทำดังกล่าวชอบด้วยกฏหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ดังนั้น เรามีการประสานงานเพื่อดำเนินการดังกล่าวให้ลุล่วง และเราต้องพิจารณาการตัดสินใจต่างๆอย่างถี่ถ้วน"

ข้อเท็จจริงดังกล่าวและการอนุมัติจากยูเอ็นอาจไม่ผ่านการเห็นชอบ ขณะที่ฝ่ายบริหารของปธน.โอบามาประกาศผ่านทางเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงรายหนึ่งเมื่อวันอาทิตย์ว่า ประธานาธิบดีซีเรียจะยอมให้ผู้ตรวจการของยูเอ็นเข้าประเทศได้ หลังจากที่เกิดเหตุการโจมตีขึ้นหลายวันแล้ว ซึ่งอาจจะไม่สามารถนำไปสู่การพิสูจน์ได้ว่าซีเรียไม่ได้ใช้หรือซุกซ่อนอาวุธนิวเคลียร์

เจ้าหน้าที่ระบุว่า "ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ซีเรียใช้เวลาในการตัดสินใจที่จะยอมให้ทีมงานของยูเอ็นเข้าประเทศล่าช้าจนเกินกว่าที่จะสามารถเชื่อถือได้ ซึ่งรวมถึงเหตุผลที่ว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่ได้ถูกทำลายไปเกือบหมด ซึ่งเป็นผลของการโจมตีอย่างต่อเนื่องและการกระทำโดยเจตนาอื่นๆในช่วง 5 วันที่ผ่านมา" ขณะที่ฝ่ายบริหารมองว่า "แทบไม่มีข้อสงสัยว่า" รัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมี

นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังมีมากกว่าเพียงแค่ซีเรีย โดยอิหร่านและรัสเซียต่างก็ได้เรียกร้องให้สหรัฐใช้ความอดทนอดกลั้น และยุติการแทรกแซงงทา การทหารแต่เพียงฝ่ายเดียวต่อซีเรีย

นายแอรอน เดวิด มิลเลอร์ รองประธานฝ่ายแรงจูงใจใหม่ที่ศูนย์นักวิชาการนานาชาติวูดโรว์ วิลสัน เขียนบทความกล่าวถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า ในขณะนี้ ปธน.โอบามาไม่อยู่ในสถานะที่จะจัดการกับซีเรีย

เขากล่าวอีกว่า "โอบามาเป็นเพียงแค่ประธานาธิบดีที่เข้ามาฟื้นฟูอเมริกา มากกว่าจะเป็นผู้ไล่ตามแก้ไขปัญหาของประเทศอื่นๆทั่วโลก"

"การปฏิรูปด้านการอพยพเข้าเมือง งบประมาณ การใส่ใจบริหารประเทศ การมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษา เป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนชาวอเมริกัน และเป็นหน้าที่สืบทอดของผู้นำประเทศ ซึ่งเป็น 1 ใน 17 คนที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ทั้งนี้ เวลากำลังจะหมดลงแล้ว เหตุใดถึงเสียเวลากับปัญหาที่เขาไม่มีทางแก้ไขได้อย่างกรณีของซีเรีย"

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของฝ่ายค้านซีเรียอีก นายพลเด็มป์ซีย์ระบุในจดหมายถึงสมาชิกผู้แทนราษฎรอีเลียต แองเกล ซึ่งเป็นผู้นิยมระบอบประชาธิปไตยแถวหน้าในคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรว่า สหรัฐสามารถสร้างสมดุลทางทหารร่วมกับฝ่ายค้ายของซีเรียได้ แต่กลับปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะกลุ่มกบฏอาจจะไม่สนับสนุนผลประโยชน์ของสหรัฐเมื่อพวกเขายึดอำนาจได้

นายมิลเลอร์กล่าวว่า "ซีเรียไม่ถือว่าทหารอัฟกานิสถาน/อิรักปลอมนั้นเป็นอัตราย แต่สิ่งที่อัตรายยิ่งกว่านั้นคือการใช้กำลังทหารสหรัฐในสถานการณ์ที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ชัดเจน และไม่ทราบความเสียหายแน่ชัด"

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปธน.โอบามาไม่มีแนวโน้มจะดำเนินการใดๆในประเด็นซีเรีย ผู้นำสหรัฐให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า "ผลประโยชน์ของประเทศที่สำคัญของสหรัฐก็คือการเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองของซีเรียในขณะนี้ ทั้งเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่กระจายอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูง และเพื่อปกป้องพันธมิตรของเรา ฐานทัพของเราในภูมิภาคดังกล่าว" ขณะที่ยังมีประเด็นเกี่ยวกับอาวุธเคมีอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่จะจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว ยังคงเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับปธน.โอบามา สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ