Analysis: นักวิเคราะห์ชี้การโจมตีซีเรียอาจส่งผลร้ายต่อสหรัฐเอง

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 29, 2013 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขณะที่คณะทำงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐเตรียมความพร้อม เพื่อสั่งการกองกำลังทหารจู่โจมซีเรีย ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งของสหรัฐก็ได้ออกมาเตือนว่า การกระทำดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดผลร้ายต่อสหรัฐเอง

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า การยื่นมือเข้าไปพัวพันกับซีเรียอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้น เพราะไม่มีอะไรที่จะสามารถรับประกันได้ว่า กองทหารสหรัฐจะพบอาวุธเคมีตามที่กล่าวหารัฐบาลซีเรียไว้

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากอาจตกเป็นเหยื่อในสงครามการต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่าย ซึ่งจะทำให้สหรัฐกลายเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในทันที

บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังแสดงความเห็นว่า สหรัฐไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะทำสงครามครั้งที่ 3 ในรอบ 12 ปี โดยการโจมตีซีเรียจะก่อให้เกิดผลที่เลวร้ายยิ่งกว่าเหตุการณ์ขับไล่นายมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำของลิเบียเมื่อปี 2554

ลิเบียเป็นประเทศที่ถูกนานาชาติโดดเดี่ยว และไม่มีกองทหารเป็นของตัวเองอย่างแท้จริง ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับซีเรียที่มีกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ อิหร่าน และรัสเซียหนุนหลังอยู่

เวย์น ไวท์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งภูมิภาคตะวันออกกลาง สังกัดกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐกล่าวว่า “เนื่องจากสหรัฐ อังกฤษ และกองกำลังชาติอื่นๆขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ต่างต้องการหลีกเลี่ยงการสูญเสียเครื่องบิน และลูกเรือเหนือเขตแดนที่รัฐบาลซีเรียควบคุมอยู่ จึงเป็นที่แน่นอนว่า การโจมตีจะอยู่ในวงจำกัดโดยใช้จรวด อาวุธอิสระพิสัยไกลจากเครื่องบิน และอาจรวมถึงหน่วยทหารซุ่มรบที่สามารถลักลอบเข้าไปยังกองทัพอากาศซีเรีย"

ไวท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนักวิจัยแห่งสถาบันตะวันออกกลางในสหรัฐให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า เป้าหมายการโจมตีในครั้งนี้มีหลายระดับ นับตั้งแต่กระทรวงกลาโหมซีเรียลงมาถึงสำนักงานใหญ่ต่างๆของหน่วยงานอิสระที่สำคัญหลายแห่ง เช่น กองกำลัง Mechanized Division รุ่นที่ 4 และ Republican Guard Division

เจฟฟรีย์ มาร์ตินิ นักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลางจากบริษัทวิจัยนโยบายแรนด์ คอร์ป (Rand Corp.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของสหรัฐได้รับแรงผลักดันหลักมาจากความต้องการที่จะรักษาความน่าเชื่อถือของตนที่มีต่อประเทศทั่วโลก โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้กล่าวว่า การใช้อาวุธเคมีใดๆในซีเรียนั้นถือเป็นการล้ำเส้น ซึ่งจะจุดชนวนให้เกิดการโจมตีทางทหาร

ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับแรงจูงใจของสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า การเข้าจู่โจมซีเรียแทบจะไม่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ของสหรัฐให้แข็งแกร่งขึ้นมาในสายตาของประชาคมโลก สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ