Analysis: ผู้เชี่ยวชาญชี้โอบามาชงแผนโจมตีซีเรียเข้าสภาคองเกรส หวังซื้อเวลา

ข่าวต่างประเทศ Monday September 2, 2013 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดาร์เรล เวสต์ สมาชิกอาวุโสของสถาบันบรู๊กคิงส์ได้ให้ความเห็นหลังจากที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐได้ยื่นแผนส่งกำลังทางทหารเข้าแทรกแซงซีเรีย เพื่อขอมติเห็นชอบจากสภาคองเกรสว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการซื้อเวลา

นายเวสต์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "ปธน.โอบามาจำเป็นต้องโน้มน้าวผู้ที่มีสิทธ์ลงคะแนนเสียง รวมถึงสมาชิกในพรรคถึงเหตุอันสมควรในการบุกซีเรียจากเหตุโจมดีด้วยอาวุธเคมี และยังต้องทำให้ชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลกเห็นว่าเป็นการกระทำที่สมควรแล้ว"

โอบามาเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า เขาจะยื่นเรื่องเพื่อขอมติเห็นชอบจากสภาคองเกรส ในการใช้กำลังทางทหารตอบโต้กองทัพของนายบาชาร์ อัล อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย ทันทีหลังจากที่ทางคองเกรสจบช่วงพักการประชุมในเดือนส.ค.

ขณะนี้ผู้นำสหรัฐกำลังอยู่ในสถานะที่วางตัวลำบาก เพราะหากโอบามาไม่ออกมาดำเนินการตอบโต้ใดโดยอิงวาทะที่เขาเคยกล่าวไว้ นั่นอาจบั่นทอนความน่าเชื่อถือของสหรัฐในสายตาประชาคมโลก และยังไปกระตุ้นกลุ่มหัวรุนแรงที่ต่อต้านสหรัฐให้เกิดความฮึกเหิมอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม บรรดาผู้เชี่ยวชาญเดือนว่า หากสหรัฐบุกโจมตีซีเรียแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ไม่มีความรุนแรงมากนัก แต่นั่นก็อาจทำให้ประเทศที่หน่ายสงครามอย่างสหรัฐต้องมาตกอยู่ในวังวนแห่งปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้ออีกรอบ

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การโจมตีซีเรียไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะซีเรียมีกองกำลังทางอากาศที่น่าเกรงขาม และกลุ่มเป้าหมายที่ต้องจัดการนั้นอยู่บนแผ่นดินใหญ่ที่ไกลออกไป ซึ่งอาจทำให้ชีวิตของนักบินสหรัฐหรือชาติพันธมิตรตกอยู่ในอันตราย จนทำให้พวกเขาต้องถอนกำลังหลบหนีทางทะเล

นายเจ็ฟฟรีย์ มาร์ตินี นักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันออกกลางของสถาบันวิจัยนโยบายแรนด์ คอร์ป ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การเข้าแทรกแซงโดยตรงไม่ว่าจะทางใดก็ตามอาจเสี่ยงทำให้สหรัฐต้องตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งในวงกว้าง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทางสหรัฐได้พยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด

เหล่านักวิเคราะห์รายอื่นๆต่างแสดงความเห็นโต้แย้งไปในทางเดียวกัน โดยเว็บไซต์ของซีเอ็นเอ็นได้รายงานการคาดการณ์ของนายเอ็ด ฮุสเซน นักวิเคราะห์จากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า แผนการโจมตีดังกล่าวอาจยกระดับสถานการณ์ให้กลายเป็นสงครามที่เยื้ออีกสงครามหนึ่ง และทิ้งปัญหาให้ประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไปในปี 2559 ต้องมาจัดการ

เขาเสริมว่า ขณะนี้ กองกำลังต่อต้านมีเป็นจำนวนมาก โดยกองกำลังขับไล่นายอัสซาดอาจทำให้สถานการณ์ปะทุเป็นสงครามกลางเมืองครั้งใหม่ ท่ามกลางกองกำลังที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ซึ่งส่วนมากจะเป็นฝ่ายที่ต่อต้านสหรัฐ และมีพื้นที่ยึดครองตามเมืองใหญ่ไม่มากนัก

ส่วนนักวิเคราะห์รายอื่นๆต่างพากันสงสัยถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งแทบจะไม่ได้ออกมาเปิดเผยถึงเป้าหมายในการบุกโจมตีทางทหารเลย

บทวิเคราะห์โดย แมททิว รัสลิ่ง จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ